มีสมุนไพรไม้เถาขนาดเล็กเรี่ยดิน แต่รากลึกใช้เป็นยา อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องสำอาง บำรุงสุขภาพและความงามชนิดหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นสมุนไพรยอดฮิตติดเทรนในหลากหลายชื่อ เช่น ภาคเหนือชื่อ พญารากหอม กำหยาน ตำยาน และเครือเขาใหม่ ภาคอีสานเรียกจั่นดิน กู้ดิน และแฮงหอม นครสวรรค์เรียก เชือกเถา สุพรรณมีชื่อ ตำนานดิน ภาคกลางเรียก อบเชยเถาหรืออบเชยป่า เป็นต้น จนอาจทำให้ผู้คนสับสนว่า เป็นสมุนไพรชนิดเดียวกันหรือมีหลายชนิดกันแน่ จึงต้องมาเฉลยกันให้ชัดเจน โดยอ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของกองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ศึกษาว่าสมุนไพรรากหอมในชื่อพื้นเมืองกลุ่มนี้ ล้วนสังกัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์แอสเคลปเปียดาซี (ASCLEPIADACEAE)
ที่อาจจำแนกตามพฤกษอนุกรมวิธาน คือ การจัดพรรณพืชให้เข้าหมวดหมู่เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกแก่การนำมาใช้ศึกษาได้มากกว่า 3 สายพันธุ์ มีชื่อพื้นเมืองในภาษาไทยเหมือนกัน แต่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์แตกต่างกัน ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ 2 สายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย แม้รากจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นเปลือกอบเชยต้นจากสารกลุ่มอะโรมาติคอัลดีไฮด์ (Aromatic Aldehyde) เหมือนกัน แต่สรรพคุณต่างกัน ดังนั้นจึงต้องรู้จักจำแนกอบเชยเถาอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์และสรรพคุณที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม การแยกแยะที่ง่ายที่สุดคือการสังเกตรูปลักษณ์ของใบที่แตกต่างกันอัน ได้แก่
1.อบเชยเถาสายพันธุ์ ที่แต่เดิมชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atherolepis pierrei Cost.var.glabra Kerr ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Finlaysonia pierrei (Costantin) Venter ตามที่สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิวศึกษาไว้ และน่าดีใจที่บันทึกไว้ด้วยว่าพืชนี้ชาวพื้นเมืองไทยและเวียดนามรู้จักใช้กันดี เป็นพรรณไม้เถาใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-2.8 ซม. และยาวประมาณ 2.5-6 ซม. ผิวใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีน้ำเงิน ลายเส้นใบเป็นสีขาว มองเห็นได้ชัดเจน ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มียางสีขาวข้น ก้านใบมีความยาว 1- 2 มม. และมีขน ส่วนหูใบนั้นจะสั้นมาก ใบอ่อนจะมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นใบ แล้วขนนั้นจะค่อยๆ หลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ สรุปคือ อบเชยเถาพันธุ์นี้มีรูปใบขอบขนานขนาดเล็ก ลายเส้นใบสีขาว จุดสังเกตเด่นชัดคือ ก้านใบสั้นมากจนเห็นติดกับเถา บางท้องถิ่นเรียกอบเชยเถาชนิดนี้ว่า ตำยานตัวเมีย มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ ขับลม
2.อบเชยเถาสายพันธุ์ Zygostelma benthamii Baill. เป็นพรรณไม้เถาใบเดี่ยวเหมือนพันธุ์แรก ต่างกันที่สายพันธุ์นี้มีใบเกลี้ยง ไม่มีขนบนเส้นใบ และลายเส้นใบไม่เด่นชัดอย่างพันธุ์แรก แต่มีแขนงใบจำนวนมากกว่า 8-10 คู่ ทั้งยังมีสัณฐานรูปใบขอบขนานที่ยาวและกว้างกว่าราว 2 ถึง 3 เท่า คือ ยาว 6-15 เซนติเมตร กว้าง 3-4.5 เซนติเมตร แต่จุดต่างที่เห็นชัดอีกข้อคือ ใบอบเชยเถาสายพันธุ์นี้มีก้านใบยาวราว 1- 1.5 เซนติเมตร บางท้องถิ่นเรียกอบเชยชนิดนี้ว่า ตำยานตัวผู้ มีสรรพคุณ แก้ปวดเอว ปวดเมื่อยตัว แก้ปวดหัว ช่วยบำรุงกำลังเทียบชั้นกับโสมเกาหลีได้เลยทีเดียว สามารถรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) ได้ดีกว่าไวอากร้าที่ช่วยให้นกเขาขันได้ชั่วครู่
เนื่องจากอบเชยเถา 2 ชนิดนี้ รากมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกัน ชาวบ้านจึงนำมาบริโภคอย่างเหมารวม เข้าใจว่าเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงถ้าจะใช้อบเชยเถาให้ได้สรรพคุณตรงตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องรู้จักการสังเกตชนิดของอบเชยเถาให้ถูกต้น เช่น ถ้าต้องการบำรุงหัวใจ ขับลม ก็เลือกใช้รากอบเชยเถาหรือตำยานตัวเมีย ที่มีใบขอบขนานขนาดเล็ก แขนงเส้นใบสีขาวชัดและก้านใบสั้น แต่หากต้องการบำรุงกำลังและแก้เซ็กส์เสื่อมก็ต้องใช้อบเชยเถาหรือตำยานตัวผู้ ที่มีรูปใบขอบขนานขนาดใหญ่กว่าชนิดแรก
อย่างไรก็ตาม การเตรียมและวิธีใช้สมุนไพร 2 ชนิด ในการปรุงยา อาหาร และเครื่องสำอางไม่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วนิยมเตรียมเป็นวัตถุดิบแห้งเพื่อเก็บได้นาน ด้วยการนำรากสดที่ล้างสะอาดแล้ว หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดราว 5 มิลลิเมตร แล้วนำมาตากแดด อบแห้ง หรือคั่ว จนได้วัตถุดิบสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอม จากนั้นนำไปปรุงเป็นยา อาหาร และเครื่องสำอางตามต้องการด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่
วิธีการต้ม ใช้อบเชยเถาแห้ง 25 กรัมและรากชะเอม (ชะเอมเทศหรือชะเอมไทยก็ได้) 5 กรัม ห่อถุงผ้าโปร่งหรือผ้าขาวบาง ต้มในน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร ให้เดือดประมาณ 10-15 นาที ดื่มวันละ 1-3 แก้ว(แก้วละ 250 มล.) ถ้าใช้ อบเชยเถา ชนิด Finlaysonia pierrei (Costantin) Venter สรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ขับลม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย หากต้องการชูสรรพคุณนี้ให้เด่นขึ้น สามารถเติมผงยาหอมตำรับที่ชื่นชอบ 1 ช้อนชา ละลายในน้ำยาต้มสำหรับดื่ม ถ้าใช้อบเชยเถา ชนิด Zygostelma benthamii Baill. ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเอว บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากต้องการชูสรรพคุณมากขึ้นควรเพิ่มกระชายเหลือง (หรือกระชายขาว) 10 กรัม หรือจะใช้กรรมวิธีดองเหล้าขาว 40 ดีกรี ถ้าใช้เฉพาะอบเชยเถาแห้งอย่างเดียวหนัก 100 กรัมต่อเหล้าขาว 500 มล.ดองอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ดื่มครั้งละ 15 มล.วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อบำรุงกำลัง ไม่ควรดื่มมากกว่านี้
เดี๋ยวนี้มีการใช้น้ำต้มอบเชยเถาสำหรับหุงข้าวได้กลิ่นหอมกรุ่นน่ารับประทาน และมีคุณค่าในทางบำรุงสุขภาพ เมนูอาหารพื้นบ้านยังนำอบเชยเถาใช้เป็นเครื่องปรุงที่สำคัญ น้ำอบเชยเถายังพัฒนาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรและขนมสุขภาพประเภทวุ้นอีกด้วย ในด้านเครื่องสำอางชาวบ้านบางท้องถิ่นรู้จักนำผงรากอบเชยเถาทำแป้งผัดผิวหน้าให้กระจ่างใสนวลและช่วยรักษาสิวฝ้าลบรอยจุดด่างดำ ต่อมามีการค้นพบว่าในรากอบเชยเถาทั้ง 2 ชนิด มีสาร 2-ไฮดรอกซี-4 เมธ็อกซี เบนซัลดีไฮด์(2-Hydroxy-4methoxy benzaldehyde) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง(Tyrosinase Inhibitor) ลดรอยด่างดำบนผิวหนัง จึงมีสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนบางแห่งนำสารสกัดรากอบเชยเถามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภท LIGHTENING ที่จะมาช่วยยับยั้งการเกิดเมลานินซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดผิวหมองคล้ำ ช่วยผลัดผิวให้ผ่องใสนวลละอองยองใยอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ไม่ทำให้ผิวขาวเว่อร์เหมือนการใช้เครื่องสำอางประเภท WHITENING
ด้วยสรรพคุณอันโดดเด่นทำให้รากหอมของอบเชยเถาทั้ง 2 ชนิด กลายเป็นขุมทรัพย์สุขภาพใต้ดินที่ผู้คนทั้งชนบทและในเมืองแสวงหา จึงไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันรากพรรณไม้ที่เคยพบเห็นดาษดื่นเหมือนวัชพืช จะมีสนนราคาสูงลิ่วตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อกิโลกรัมแห้ง ขนาดต้นกล้าของอบเชยเถาสูงแค่ 2 นิ้ว ถ้าสั่งซื้อตอนนี้ก็มีราคา 150-200 บาท สามารถเพาะเมล็ดหรือทาบเถาขายเป็นอาชีพได้เลย ยิ่งถ้ามีความรู้ในการจำแนกสายพันธุ์ก็จะช่วยให้จัดหาสมุนไพรตรงตามสรรพคุณที่ลูกค้าต้องการได้
จะดีกว่าไหม มาช่วยกันฟื้นระบบนิเวศน์ของดินและป่าเพื่อต้อนรับให้พืชพรรณที่ทนทายาทนี้กลับมาเติบโตแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติได้อีก และเป็นขุมทรัพย์บำรุงสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่ต้องซื้อหาในราคาแพงอีกต่อไป.