หลายคนคุ้นเคยกับ “ส้มแขก” ในรูปแบบของชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยระบาย
ที่จะพูดถึงในวันนี้คือ “ส้มควาย”… ไม่ใช่ส้มแขก
มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ส้มควายก็คือส้มแขก
ความจริงก็คือ ทั้ง 2 อย่าง มีความแตกต่างกัน รูปทรงผลก็ต่างกัน ขนาดของผลก็ต่างกัน แม้ว่าจะมีสรรพคุณเหมือนก็ตาม
“ส้มควาย” ผลไม้รสเปรี้ยว ตระกูลเดียวกับ “ส้มแขก” นิยมใช้เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพร
ส้มควาย พบได้แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ภูเก็ต ชาวบ้านนิยมปลูกส้มควายเป็นไม้ผลประจำบ้าน
ต้นส้มควายภูเก็ต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือขนาดผลใหญ่เนื้อมาก มีรสเปรี้ยวที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ใช้แทนมะนาวได้ และใช้เป็นสมุนไพรมายาวนานกว่า 100 ปี
ส้มควายตากแห้ง เป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในครัวชาวใต้ มักจะใส่ในแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ต้มส้ม
บางหมู่บ้านนำส้มควายมาแปรรูปเป็น ส้มควายแช่อิ่ม ส้มควายสามรส ส้มควายกวน หรือ น้ำสมุนไพรส้มควาย
ส้มควายมีสรรพคุณช่วยให้ระบาย … กินมากๆ แล้วท้องจะเสียมั้ย?
สำหรับแอดมินเองเป็นคนธาตุแข็ง ส้มควายไม่สามารถทำอะไรเราได้ แต่สำหรับคนที่อ่อนไหวง่ายกินของเปรี้ยวมากแล้วท้องเสีย อาจจะต้องระมัดระวัง ควรกินน้อยๆ
ภูมิปัญญาโบราณของชาวบ้าน ยังนำส้มควายไปตากแห้ง และบดเป็นผง นำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ทำให้ช่วยลดอาการปวดเมื่อย และระงับกลิ่นเท้าได้ดี ยังมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับอีกว่า ส้มควาย มีสาร AHA ซึ่งช่วยบำรุงให้ผิวพรรณกระจ่างใส จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางเป็นอย่างมาก
เราทำชาส้มควายดื่มเองได้ที่บ้าน ถ้าต้องการดื่มเป็นชายามบ่าย รสเปรี้ยวนิดๆ เพื่อความสดชื่น ใช้ส้มควายตากแห้ง 2 ชิ้น ต้มน้ำ 1 ลิตร พอน้ำเดือดก็ปิดไฟ เราจะได้ ชาส้มควายรสเปรี้ยวนิดๆ หรือใส่น้ำเชื่อมนิด แล้วใส่น้ำแข็ง ดื่มตอนอากาศร้อนๆ ก็สดชื่นมากมาย
สำหรับคนที่ต้องการดื่มชาส้มควายเพื่อเป็นยาระบาย ใช้ส้มควาย 5 – 6 ชิ้น ต้มในน้ำ 1 ลิตร เราจะได้น้ำส้มควายเข้มข้นขึ้น ดื่มก่อนนอน
ปัจจุบัน “ส้มควาย” ไม่ได้อยู่แค่ในครัวอีกต่อไป
ส้มควาย แปรรูปเป็นของกินเล่น เป็นเครื่องสำอาง และอื่นๆ ที่เราต้องการ….
ฉะนั้น “ส้มควาย” ไม่ใช่ “ส้มแขก”… ไม่สับสนกันแล้วนะ