กระทุ่ม พส.(พืชสมุนไพร)คู่แฝดกระท่อม ย่อมใช้แทนกันได้ไม่เสพติด ไม่ผิดกฎหมาย

บรรดาแฟนคลับกระท่อม “สุดต๊าช” เมื่อมีการปลดล็อคพืช กระท่อมจาก”สภาพ”ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เราจึงควรมาทำความรู้จักกับ กระทุ่ม พส.-พืชเสรีคู่แฝดกระท่อม ที่ใช้นามสกุล(Genus)เดียวกันคือ ไมทราไจน่า(Mitragyna) จึงเสมือนเป็นแฟนทำแทนกันได้ดี แม้ไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนกระท่อมก็ตาม

อันที่จริง หากเทียบชั้นกันแล้ว กระทุ่มมีศักดิ์สูงกว่ากระท่อม เพราะกระทุ่มเป็นพส.-พืชสมุนไพรขั้นเทพที่ได้หยาดน้ำอำมฤตจากเกษียรสมุทร และเป็นต้นไม้ที่องค์พระกฤษณะทรงโปรดมาไกวชิงช้าเล่นกับบรรดาชายา พลายแก้วกับนางพิมพิลาไลจึงเอาอย่างบ้างชวนกันมา “นอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย” (ฮา) เอกลักษณ์ของกระทุ่มที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือส่วนของดอกทรงกลมแผ่รัศมีเกสรโดยรอบ เป็นดอกไม้มงคลที่ชาวอินเดียใช้บูชาพระกฤษณะในวัน “จุลันชาตรา” ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดือนสค.-กย.ที่ต้นกระทุ่มออกดอกสะพรั่งหอมอบอวน ด้วยนิมิตมงคลของดอกกระทุ่มนี่เอง สาวๆสยามยุคจึงมีแฟชั่นนิยมผมสั้นเสยชันขึ้นเรียกว่า “ทรงดอกกระทุ่ม” แต่ไม่เรียกทรงดอกกระท่อม(ฮา) แม้จะมีทรงดอกเหมือนกันก็ตาม และเวลานี้ก็มีข่าวแชร์มั่วว่า กระท่อมรักษาโควิด-19ได้เพราะรูปร่างหน้าตาเชื้อไวรัสโคโรนามีลักษณะทรงกลมแผ่รัศมีหนามเหมือนทรงดอกกระท่อม

ในทางภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านนั้น สามารถใช้กระทุ่มแทนกระท่อมได้เลย โดยเฉพาะกระท่อมนา ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna diversifolia ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 พันธุ์กระทุ่มที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกับกระท่อมมากที่สุด บ่งชี้ได้จากการมีรสขมฝาดเมาคล้ายกัน อันพิสูจน์ได้จากสารสำคัญ กล่าวคือ ในใบกระท่อมนามีอัลคาลอยด์ ชื่อ ไมทราฟีลีน (Mitraphyline) ซึ่งมีฤทธิ์น้องๆของสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ที่มีอยู่ในใบกระท่อม กล่าวคือ มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยลดความดันโลหิต ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท ในปัจจุบันภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุมีถึงร้อยละ 90 และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทุพพลภาพสูงที่สุด เพราะก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคทางสมองและหลอดเลือดตามมานั่นเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ยิ่งสูงวัยมาก ภาวะความดันโลหิตก็ยิ่งสูงมาก โดยผู้ชายจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าผู้หญิง และสารไมทราฟีลีนในใบกระทุ่มนาก็สามารถออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดที่ควบคุมความดันโลหิต ให้เป็นปกติ รวมทั้งยังช่วยควบคุมกล้ามเนื้อเรียบของผนังกระเพาะอาหาร สำไส้ และมดลูก จึงช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เมื่อเป็นบิดหรือท้องร่วง และยังระงับอาการปวดมดลูกได้ด้วย

แต่ฤทธิ์ของใบกระทุ่มนาที่แฟนคลับกระท่อมใฝ่ฝันก็คือ ฤทธิ์ต่อระบบประสาท อันได้แก่ ช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่าขยันขันแข็ง มีเรี่ยวแรงทำงาน ไม่ปวดเมื่อยอ่อนล้าง่ายๆ เรียกว่า เป็นยาขยันน้องๆกระท่อมเลยทีเดียว แม้ไม่ขยันอึดทนสู้แดดเปรี้ยงได้เหมือนเคี้ยวใบกระท่อมก็ตาม และเพราะฤทธิ์คล้ายกระท่อมนี้เอง ชาวใต้จึงเรียกกระทุ่มนาว่า กระท่อมนาเพราะใช้เสพแก้ขัดแทนกระท่อมได้ แต่ไม่นิยมใช้วิธีเคี้ยวใบกระทุ่มสด หากจะเลือกใบกระทุ่มนางามๆชนิดกลางแก่กลางอ่อน ลอกเส้นใบออกให้หมดจดเพราะเป็นเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ ถ้าเผลอนำไปเคี้ยวกลืน อาจทำให้ลำไส้อุดตันได้ จากนั้นจึงนำไปย่างไฟอ่อนๆพอให้เกรียม เป็นการประสะพิษและทำให้สมุนไพรมีรสชาติดีขึ้น เมื่อนำไปชงน้ำร้อนดื่มสังสรรค์กันในวงน้ำชา โดยจะเติมน้ำผึ้งแต่งรสด้วยก็ได้ หรือจะดื่มชาชงใบกระทุ่มนาครั้งละ 1 ใบ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเพื่อรักษาสุขภาพในยามโควิดก็ได้ ช่วยให้มีอารมณ์แจ่มใส บำรุงกำลัง ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ แก้ไข้ หรือจะอมน้ำชากระทุ่มนากลั้วคอช่วยสมานแผลแก้อักเสบในลำคอและช่องปาก

ปกติกระทุ่มนาเป็นพืชที่ขึ้นง่ายแม้ในที่น้ำท่วมขัง และนิยมปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เมื่อเริ่มมีการปลดล็อคกระท่อม ตอนนี้จึงมีเกษตรกรหัวใสใช้ต้นกระทุ่มนาเป็นต้นตอเสียบกิ่งกระท่อมขายรายได้งาม กระทุ่มนามีประโยชน์มากกว่าที่คิด หันมาใช้กระทุ่มนาแทนยาเสพติด ชีวิตจะต๊าชขึ้นอีกเยอะเลย