กระเทียมไทยใกล้ตัว ไม่ต้องกลัวลิ่มเลือดอุดตันในวิกฤตโควิด-19

ทอล์คออฟเดอะทาวน์เดือนมีนาคมนี้เห็นจะไม่มีประเด็นข่าวไหนดังเท่ากับกรณีที่นายกรัฐมนตรีไทยรอดพ้นจากการโชว์ฉีดวัคซีนสายพันธุ์อังกฤษยี่ห้อออกฟอร์ด-แอสตร้าเซเนกาเข็มแรกไปอย่างหวุดหวิดชนิดเสันยาแดงผ่าแปด(ฮา) หลังจากรัฐบาลเดนมาร์กกับอีก 6 ประเทศยุโรปประกาศระงับการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 11 มีนาคมเมื่อพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในฝรั่งที่ฉีดวัคซีนตัวนี้โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตด้วย และต่อมาในวันที่ 15 มีนาคมนี้เองเนเธอร์แลนด์ก็เป็นประเทศที่ 8 ที่ประกาศระงับการฉีดวัคซีนสายพันธุ์ออกซฟอร์ด
เป็นอันว่าทั้งคณะรัฐมนตรีและคนไทยผู้สูงอายุทั้งหลายต้องร้องเพลงรอลุ้นไปอีก 14 วัน เพื่อรอผลสอบสวนหาสาเหตุของภาวะข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แม้ว่าคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะฟันธงว่าไม่น่าจะเกิดจากวัคซีนก็ตาม ทั้งยังให้ความเห็นว่าอุบัติการณ์โรคลิ่มเลือดอุดตันเป็นภาวะโรคที่เกิดกับพันธุกรรมของชาวยุโรปและแอฟริกา แต่ไม่เป็นปัญหากับพันธุกรรมไทย และแล้ววันประวัติศาสตร์ 16 มี.ค. ท่านนายกและคณะรัฐมนตรีก็ได้สัมผัสวัคซีนที่เลื่อนออกมาได้แล้ว

ประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงในหมู่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน จำได้ว่ามีบทความทางวิชาการแพทย์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งเรื่อง “โรคไม่ติดต่อ ภัยเงียบที่กำลังคุกคามสุขภาพประชาชน” ในหนังสืออนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบรอบ 45 ปี เขียนโดย นพ. ศรีวงศ์ หะวานนท์ อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมการแพทย์ ที่น่าสนใจคือคุณหมอท่านนี้ไม่ใช่อายุรแพทย์แต่เป็นอดีตกุมารศัลยแพทย์เอกแห่งโรงพยาบาลเด็กและเป็นหมอเด็กปั้นของ ศจ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุข คุณหมอศรีวงศ์เป็นนักวิชาการแพทย์คนแรกๆที่พูดถึง “โรคไม่ติดต่อ”หรือโรค NCD (Non Communicable Disease) เมื่อกว่า 30ปี ก่อน โดยที่ตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุขยังไม่รู้จัก “โรคไม่ติดต่อ “ เพราะยังมีแต่ “กรมควบคุมโรคติดต่อ” ซึ่งมีภารกิจควบคุมเฉพาะโรคติดเชื้อเป็นหลัก

อันว่า “โรคไม่ติดต่อ” นั้นท่านให้นิยามสั้นๆว่า “โรคตะวันตก(Western Disease) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (life style) หรือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์กับสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รูปแบบการบริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่นการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม เปลี่ยนวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์แบบชนบทไปเป็นชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบแข่งขัน ที่สำคัญคือการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคจากอาหารธรรมชาติที่ไขมัน โซเดียมต่ำไปสู่ฟาสต์ฟู้ดและอาหารแปรรูปที่มีไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุของ “โรคไม่ติดต่อ” ชนิดร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกก่อน เขาจึงเรียกกลุ่มโรคใหม่นี้ว่า “โรคตะวันตก” ได้แก่ มะเร็งชนิดต่างๆ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ่มเลือดอุดตัน เบาหวาน โรคอ้วน โรคเครียด โรคภูมิแพ้ เป็นต้น เมื่อชาวตะวันออกเปลี่ยนวิถีชีวิตและสังคมเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น ก็รับเอาภาวะโรคไม่ติดต่อเหล่านั้นมาด้วย ซึ่งมิใช่เกิดจากพันธุกรรมเพียงปัจจัยเดียว

กล่าวเฉพาะ ภาวะโรคลิ่มเลือดอุดตัน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เผยตัวเลขว่า คนไทยตายและพิการเพราะโรคเลือดสมองเป็นอันดับหนึ่ง คือ ตายปีละ 5 หมื่นคน และพิการอีกปีละสองแสนห้าหมื่นคน โดยที่ร้อยละ 80 เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในสมอง นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุการตายอันดับรองลงมาที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด ส่วนกรณีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ชนิดที่พบในผู้ป่วยชาวยุโรปที่ได้รับวัคซีนแอส ตร้าเซเนกานั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรม ได้แก่ การไหลเวียนของเลือดช้าลง มักพบในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้สูงอายุที่ขาดการออกกำลังกาย ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต สตรีมีครรภ์หรือคนที่ร่างกายไม่ขยับตัวเป็นเวลานานๆ เช่น คนนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน นั่งเครื่องบินหรือจับเจ่าอยู่ในรถที่ติดจราจรเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นต้น และยังพบในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดนานกว่า 4 เดือนอีกด้วย

ปัจจุบัน ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่รู้จักกันดี คือ ยาเฮพารินและยาแอสไพริน ซึ่งเป็นยาที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะเป็นยาอันตราย ในที่นี้จึงขอแนะนำ กระเทียมไทย ใช้ละลายลิ่มเลือดได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ วงการวิจัยสมุนไพรรู้กันมานานแล้วว่าในกระเทียมมีสารออกฤทธิ์ลดไขมันในเลือดสองชนิดคือ อัลลิซิน และ สคอร์ดินิน ผลจากการวิจัยพบว่าการกินกระเทียมสับเพียงวันละ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาพูนก็สามารถควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ สำหรับคนที่มีไขมันในเลือดสูง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงกลไกที่กระเทียมสามารถละลายลิ่มเลือดได้ นักวิจัยในอเมริกาพบว่ากระเทียมลดการรวมตัวของเกล็ดเลือดได้ โดยไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างสารทรอมโปเซน บี2 ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนอุดตันในหลอดเลือด

ส่วนในไทยแลนด์ของเราเอง พ.ญ.เผือดศรี วัฒนานุกูล และคณะแห่งคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้ทดลองผลของกระเทียมต่อการละลายลิ่มเลือด โดยนำกระเทียมมาสกัดด้วยน้ำแล้วฟรีซดราย บรรจุแคปซูลขนาด 350 มก. พบว่าขนาดที่เหมาะสมในการละลายลิ่มเลือดอย่างปลอดภัยคือ ครั้งละ 4 แคปซูล เริ่มออกฤทธิ์หลังรับประทานภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงออกฤทธิ์ได้นาน 20 -150 นาที
สารสกัดกระเทียม 1 แคปซูลเท่ากับกระเทียมสดหนัก 2.19 กรัม ดังนั้นจึงต้องกินกระเทียมสดครั้งละ 8.76 กรัมหรือกระเทียมสับ 2 ช้อนชา จึงจะออกฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เคล็ดลับในการกินกระเทียมสดเป็นยาละลายลิ่มเลือดอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยคือ ต้องกินกระเทียมไทยเท่านั้น เพราะมีสารสำคัญสูง และต้องกินพร้อมข้าวโดยเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อให้สารสำคัญในกระเทียมแตกตัวและออกฤทธิ์เต็มที่ ทั้งยังป้องกันการระคายเคืองในช่องปากและกระเพาะอาหาร ข้อควรระวังคือไม่ควรกินกระเทียมเกินขนาดที่ใช้เป็นยา และห้ามกินกระเทียมพร้อมกับยาละลายลิ่มเลือด

ใครที่กำลังฉีดวัคซีนแอสตร้า เซเนกาเข็มแรก หรือยังไม่ถึงคิวฉีดก็ตามจะกินกระเทียมป้องกันภาวะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันไว้ด้วยก็ดีนะ จะบอกให้