‘กรีนโฟม’ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

การรณรงค์ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก หรือการรณรงค์ให้นำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันผู้ผลิตและนักคิด ก็ต้องค้นหาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติการย่อยสลายในธรรมชาติมากขึ้นด้วย เช่น พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และโพลิแลกติกเอซิด. แต่ก็อีกนั่นแหละ พลาสติกสังเคราะห์เหล่านี้มีราคาแพง จึงเป็นข้อจำกัดในการนำไปใช้งาน

ทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก คือ การเลือกใช้โพลิเมอร์จากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หาง่าย ราคาถูก เช่น แป้ง, เซลลูโลส และไคโตแซน เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น และ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ได้ทำโครงการวิจัย “การพัฒนาถาดไบโอโฟม” ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ มาทดลองผลิตโฟมที่ย่อยสลายได้, ฟิล์มที่บริโภค และกระดาษกันรา เพื่อทดแทนการใช้โฟม (EPS) หรือทดแทนพลาสติก หรือสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ป้องกันเชื้อราในกระดาษ เพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับวัสดุสังเคราะห์ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และผัก ผลไม้สด รวมทั้งใช้สารจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วัสดุธรรมชาติที่อาจารย์นักวิจัยทั้ง 2 คนนำมาใช้ คือ แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการผลิตสูงมาก หากสามารถนำมาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์จากแป้งธรรมชาติได้ ไม่เพียงแค่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ถาดไบโอโฟม ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ผสมกับขุยมะพร้าว หรือเยื่อ Kraft หรือไคโตแซน นำมาให้ความร้อนให้อยู่ในรูปของเจลแป้ง ก่อนนำมาปั่นส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยสัดส่วนของส่วนผสมจะขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้

อาจารย์นักวิจัยยังออกแบบแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปถาดโฟมแป้ง ด้วยการประยุกต์ใช้จากเครื่องอบขนมวาฟเฟิล โดยติดตั้งฮีตเตอร์ทั้งฝาบนและล่าง เพื่อควบคุมความร้อนให้ได้ตามที่กำหนดคือ ที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส พร้อมกันนี้ยังเพิ่มมูลค่าของถาดโฟมแป้ง ด้วยการเคลือบน้ำมันหอมระเหยที่คณะพัฒนาขึ้นเองจากน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อรา และหากต้องการเพิ่มสีสันให้กับตัวถาด ก็สามารถนำสีจากธรรมชาติมาผสมได้ อาทิ สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเขียวจากใบเตย สีแดงจากกระเจี๊ยบแดง หรือสีเหลืองจากขมิ้น ก็จะทำให้ถาดนั้นมีสีสันสดใสยิ่งขึ้นและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะกรรมวิธีในการผลิตไม่มีส่วนผสมของสารเคมี

ถาดไบโอโฟมที่ทำจากแป้งนี้ ยังเรียกอีกอย่างว่า “กรีนโฟม” เพราะนอกจากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์พืชใส่ลงใต้ถาด เมื่อนำถาดที่ไม่ใช้แล้วไปฝังดินก็จะเป็นวัสดุปลูกพืชได้อีก เพราะกรีนโฟมเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 1 เดือน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผู้ผลิตโฟมหรือถาดพลาสติกสนใจผลงานวิจัยชิ้นนี้มาก และพร้อมที่จะนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะเห็นว่าโอกาสที่โฟมแป้งจะเข้ามาแทนการใช้โฟมพลาสติกได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มตลาดที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมแต่การจะนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น จะต้องมีการออกแบบแม่พิมพ์หรือเครื่องขึ้นรูปโฟมแป้งรูปทรงต่างๆ ที่เหมาะกับการนำไปใช้งาน เนื่องจากเครื่องที่ใช้กันอยู่เป็นเครื่องขึ้นรูปโฟมจากพลาสติก ซึ่งไม่สามารถใช้แทนกันได้

ขณะนี้ทางคณะยังเตรียมต่อยอดงานวิจัย โดยจะปรับปรุงคุณสมบัติด้านการทนร้อน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในไมโครเวฟได้ และการต้านทานการซึมผ่านของน้ำ เพราะปัจจุบันตัวถาดโฟมที่พัฒนาขึ้นยังมีข้อจำกัด ที่ยังไม่สามารถกันน้ำได้ จึงต้องการพัฒนาให้เป็นแก้วโฟม ที่สามารถกันการซึมของน้ำได้ต่อไป

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 19 ธ.ค.2556

บทความที่เกี่ยวข้อง