กอดลูกเพิ่ม “อีคิว” ป้องกันเจ็บป่วย

วันนี้ (7 ส.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัว ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การเคหะแห่งชาติ และ กทม. ว่า แนวทางและรูปแบบการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องยึดหลักการให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวและพัฒนากรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้ครอบครัวสามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับครอบครัวได้ โดยการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวร่วมกัน ด้วยการสร้างความเข้าใจกับชุมชน การสำรวจเด็กปฐมวัย 0 – 2 ปี การสำรวจศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็กที่มีอยู่เดิม การสร้างมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็ก และการสร้างหลักสูตรพัฒนาคุณภาพผู้ดูแลเด็ก

นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อ ธ.ค. 2556 พบว่า ประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย 4,557,091 คน แบ่งเป็นเด็กอายุ 0 – 1 ปี จำนวน 1,481,714 คน ยังอยู่กับพ่อแม่และครอบครัว ส่วนเด็กอายุ 2 – 5 ปี จำนวน 3,075,377 คน บางส่วนเข้าสู่ระบบการศึกษา เช่น เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล และมีบางส่วนที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อม คิดเป็นร้อยละ 13 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมด โดยเด็กอายุ 0 – 1 ปี ที่อยู่กับพ่อแม่และครอบครัวมีจำนวนมากถึงร้อยละ 32.5 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมด แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า เด็ก 0 – 1 ปีทั้งหมดจะได้รับการดูแลและพัฒนาที่ดี เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า เด็กที่อยู่กับครอบครัวต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการ อาทิ ความเป็นอยู่ไม่สะอาด ส่งผลต่อสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจที่ขัดสน ส่งผลต่อโภชนาการ สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อยู่ในชุมชนที่มียาเสพติด ส่งผลให้เด็กไม่ปลอดภัย ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือไม่ออก ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง เด็กผูกพันกับผู้เลี้ยงดู ความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับเด็กลดน้อยลง

“การแก้ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว นอกจากจะให้ความสำคัญกับการสร้างความรักความอบอุ่นแล้ว ยังเติมความรักให้แก่กันด้วยการกอด เพราะการกอดมีผลดีอย่างมากในเด็ก สามารถเพิ่มอีคิวได้ โดยเฉพาะเด็กทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยการสัมผัส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา พบว่า การสัมผัสหรือการกอดมีผลต่อกระบวนการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็ก และยังมีผลต่อการรักษาโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างครอบครัว เติมเต็มความรัก สร้างความไว้วางใจให้ความรู้สึกมั่นคง การคุ้มครองสร้างความปลอดภัยให้แก่กัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า การกอดยังมีผลดีต่อสุขภาพป้องกันการเกิดโรคร้าย เช่น โรคหัวใจและภาวะซึมเศร้า เพราะการกอดจะช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เพราะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซิทอกซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียด และการกอดคนรัก สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ก่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ความกระฉับกระเฉง รวมทั้งสารแห่งความสุข ตัวอื่น ๆ เช่น สารเอนโดฟิน (Endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นต้น

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ส.ค.2558

บทความที่เกี่ยวข้อง