กะเม็งตัวเมีย วัชพืชสมุนไพร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมุนไพรที่มีชื่อ ติดอันดับ ที่มีการใช้มากในตำรับยาล้านนาได้แก่ กะเม็งตัวเมีย หรือทางเหนือเรียกหญ้าฮ่อมเกี่ยว   ชื่อวิทยาศาสตร์ Eclipta prostrata L. วงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE) หรือชื่ออังกฤษว่า False Daisy, White Head

ในฤดูกาลนี้ จะเห็นหญ้าฮ่อมเกี่ยวชนิดนี้ แทรกตัวอยู่ริมทางเดิน ซอกอิฐ หรือหิน เราก็ยังพบเห็นมากตามท้องนา คันนา หรือที่ชื้นแฉะ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม จะเห็นดอกสีขาวเล็กๆอัดแน่นออกชูช่อดอก ฮ่อมเกี่ยวนี้เป็นพืชล้มลุก อายุประมาณสองปี ลำต้นทอดไปตามพื้นหรือตั้ง สูง 2 -3 ฟุต ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก โคนเรียวแหลม ขอบเรียบหรือจักห่าง ช่วงปลายใบ ช่อดอกสะดุดตา ช่อกระจุกแน่น ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ยอด หรือ 1-3 ช่อตามง่ามใบ ดอกวงนอกรูปลิ้น เป็นดอกเพศเมีย กลีบดอกสีขาว ดอกวงในกลีบดอกติดกันเป็นหลอด สีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลแก่แห้งสีดำ ไม่แตกรูปลูกข่าง หญ้านี้ ทั้งต้น รวมทั้งใบให้สีดำ ปนเขียว ฮ่อมเกี่ยวอีกชนิดหนึ่งมีดอกสีเหลือง ทางจีนปลูกตามสวนยา ในตำราล้านนาเรียกว่าฮ่อมเกี่ยวคำ

กะเม็งตัวเมีย หรือฮ่อมเกี่ยว มีประวัติการใช้ทั่วทั้งเอเชีย ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย ไต้หวัน เวียดนามและลาว สามารถเก็บทั้งต้นมาใช้เป็นยาได้ทั้งในแบบสด หรือแบบแห้ง ตำราเวียดนามกล่าวถึงส่วนประกอบว่า ฮ่อมเกี่ยวทั้งต้นมีสารประเภทแอลคาลอยด์  เอ๊กลิบทีน นิโคทีน คูมาลิน และ แลคโทน ทั้งต้นมีสรรพคุณต้านแบคทีเรียและมีคุณในการห้ามเลือดได้ มีคุณประโยชน์อีกในการรักษาอาการเลือดออกทั้งภายนอกและภายใน เช่น เลือดออกระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนออกมากเกินไป เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด  ริดสีดวง   เลือดออกใต้ผิวหนัง ไอ อาเจียนเป็นเลือด นอกจากนี้ยังใช้ในการแก้แพ้ทางผิวหนัง หัด ไอ หืด เจ็บคอ อาการไหม้ โรคผิวหนัง และอาการฝ้าขาวในเด็กทารก  ขนาดปกติใช้ 12-20 กรัม อบแห้งต้มน้ำดื่มหรือทำเป็นยาเม็ด หรือใช้สมุนไพรสดขนาด 30-50 กรัม ปั่นกับน้ำ นอกจากนี้ยังใช้ภายนอก กรณีได้รับอุบัติเหตุจากสารเคมีเช่น โซดาไฟ บาดแผลหรือ ฝ้าขาวในปาก

ตำรายาพื้นบ้านอินเดียใช้ น้ำคั้นฮ่อมเกี่ยวผสมน้ำผึ้ง เป็นตำรับรู้จักกันดีสำหรับรักษาทารกที่มีอาการหวัด มีน้ำมูกมาก น้ำคั้นจากใบนำมาต้มกับน้ำมันงาหรือมะพร้าว ใช้สำหรับทาศีรษะเพื่อทำให้ผมดำและขึ้นงอกงาม นำพืชนี้มาถูเหงือกในกรณีปวดฟันและผสมกับน้ำมันเล็กน้อยแก้ปวดหัว และผสมน้ำมันงาใช้ในโรคเท้าช้าง  ในสิทธาซึ่งเป็นการแพทย์โบราณทามิลของอินเดีย พืชนี้ได้มีการนำมาใช้รักษาหลายโรคและถูกจัดเป็นพืชลำดับที่หนึ่ง ตำราอายุรเวทจัดให้เป็นยาอายุวัฒนะและทำให้เป็นหนุ่มขึ้นมาอีก  ในไต้หวัน พืชทั้งต้นถูกนำมาใช้ปรุงยาสำหรับรักษาอาการเลือดออกเช่นเดียวกับในเวียดนาม และยังใช้แก้คัน ตับอักเสบ คอตีบ และท้องเสีย ในตำราจีนและไต้หวัน กล่าวว่าฮ่อมเกี่ยวเป็นยารสหวานเปรี้ยว มีคุณสมบัติเย็นจัดและฟื้นฟู  ใบที่สกัดใช้เป็นยาบำรุงตับอย่างมีดี  ใบยังใช้ในการรักษาแมงป่องต่อย ในจีนและบราซิล ใช้เป็นสารต้านพิษงูกัด  โบราณยังใช้รักษาโรคผิวหนังเช่นเชื้อราที่เท้า น้ำเหลืองเสีย   ในการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าฮ่อมเกี่ยว  มีสรรพคุณปกป้องตับ ระงับอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเกิดเมื่อตับบวม   ระงับอาการปวดกระเพาะอาหารตอนต้น แก้คลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรัง

กะเม็งยังใช้เป็นยาย้อมผมให้ดำ  ใช้เป็นยาทาหนังศีรษะ รักษาโรคหัวล้านที่เรียกว่า อะโลพีเชีย ในงานวิจัย พบว่าเมื่อนำหนูมาโกนขนให้หมด และทาสารสกัดฮ่อมเกี่ยว ผลคือสามารถทำให้ขนของหนูขึ้นเร็วกว่าเดิม จนถึงขึ้นได้อย่างเต็มที่ และดีกว่าผลิตภัณฑ์ปลูกผมซึ่งมีขายในขนาด 2%

สำหรับฮ่อมเกี่ยว ในตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า ใบกะเม็ง สรรพคุณแก้อาเจียนเป็นเลือด แก้จุกเสียดแน่น แก้โลหิตทำพิษให้ร้อน ต้นกะเม็ง สรรพคุณแก้อาเจียนและไอเป็นโลหิต บำรุงเม็ดโลหิตให้สมบูรณ์ ตำราใบลานทางล้านนา สอดคล้องกับการใช้ในประเทศต่างๆ คือใช้กรณีเลือดออกภายใน ตัวอย่างตำรับได้แก่ “เลือดตกทวาร ท่านให้เอาฮ่อมเกี่ยวเจ็ดยอด หญ้าขัด เจ็ดยอด ควยงูน้อยเจ็ดยอด เคี่ยวน้ำ สามเอาหนึ่ง บดยาแก้ห้าต้น พริกขิงตัดกิน” หรือ “ผู้หญิงลงเลือด ตกนัก ให้เอาหุ่งทั้งสอง รากเดงมาศดอกเหลือง หญ้าฮ่อมเกี่ยว หอมป้อม เคี่ยวใส่พริก ขิง เกลือกิน” หรือ “ยาเลือดตกบ่ขาด ท่านให้เอาฮ่อมเกี่ยว หัสกืน รากขี้กาแดง รากจ้ามั่ง รากก่ำต้น เคี่ยวกิน หาย” นอกจากนั้น ยังใช้ในโรคสันนิบาต และอาการถ่ายหนักเบาไม่ออก โดยผสมตัวยาหลายอย่างเข้าด้วยกัน และน้ำกระสายยาหรือน้ำคั้นจากฮ่อมเกี่ยว ยังใช้เสริมฤทธิ์ยาในยาล้านนาที่รักษาหลากหลายโรคให้มีคุณสมบัติตรงเป้าหมาย  ฮ่อมเกี่ยว ยังผสมในยาประคบ หรือยาจู๊แก้อัมพฤกษ์อัมพาต ของ หมอพื้นบ้าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

งานวิจัยฮ่อมเกี่ยว ยังมีอยู่ต่อเนื่อง มีการศึกษาในฤทธิ์ ปกป้องตับ แก้ปวด ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด รักษาแผลให้หายเร็ว และฤทธิ์ต้านการก้าวร้าว และในทางการเกษตรกรรมสำหรับต้านแมลง พืชนี้จึงมีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ประโยชน์

ฮ่อมเกี่ยวเป็นพืชที่ถูกมองข้าม อาจเนื่องจากเป็นวัชพืช และไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แม้ว่าจะไม่ได้ปลูก แต่ก็สมควรอนุรักษ์ไว้ และนำมาใช้ทดแทน เพื่อความยั่งยืนของสมุนไพร