กาฝากมะม่วง

กาฝาก คือ พืชขนาดเล็กที่ไปอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชขนาดใหญ่ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบกาฝาก แต่ในภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบต่อกันมามีการใช้ประโยชน์จากกาฝากเป็นสมุนไพรมากมาย มีการศึกษาเบื้องต้น พบว่าในเมืองไทยมีกาฝากไม่น้อยกว่า 90 ชนิด และมีรายงานการใช้ของหมอพื้นบ้านไม่น้อยกว่า 60 ชนิด แต่ก็ยังขาดการศึกษาเชิงลึกการจำแนกแยกแยะในทางพฤกษศาสตร์ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างกัน แต่ความรู้สมุนไพรดั้งเดิมจะเรียกไปตามชนิดของต้นไม้ที่กาฝากนั้นไปเกาะอยู่ เช่น กาฝากมะม่วง ซึ่งเคยมีการเก็บข้อมูลว่าสามารถไปอาศัยบนต้นไม้ได้ไม่น้อยกว่า 40 ชนิด เช่น เมื่อไปเกาะบนต้นมะม่วง เรียกว่ากาฝากมะม่วง เมื่อไปอยู่ที่ต้นเหมือดแอ่ ก็เรียกว่ากาฝากเหมือดแอ่ เป็นต้น

กาฝากมะม่วงนี้ เป็นกาฝากสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในตำรับยา และใช้เดี่ยว ๆ เช่น ในตำรับยาของหลวงปู่ศุข มีตำรับยาแก้ความดันโลหิต ให้ใช้ต้นเหงือกปลาหมอ โด่ไม่รู้ล้ม ต้นงวงช้าง กาฝากมะม่วงกะล่อน ยา 4 อย่างนี้รวมกันต้มกินเช้า เย็น
หมอพื้นบ้านในจังหวัดมุกดาหาร มีการใช้กาฝากมะม่วงกะสอ 1 ส่วน ใช้ทั้งต้น นำมาต้ม เอาน้ำดื่ม ช่วยลดความดันโลหิตสูง รักษาแผล สมานแผล แก้เบาหวาน ยังมีการใช้ตามตำรับยาอีสานของหมอพื้นบ้านอื่น ๆ ใช้รักษาโรคนิ่วและไตด้วย ข้อมูลจากฐานข้อมูลคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวไว้ว่ากาฝากมะม่วงที่ขึ้นบนต้นมะเค็ดทั้งต้น และกาฝากมะม่วงที่ขึ้นบนต้นตูมกาขาวทั้งต้น นำมาต้มน้ำดื่มแก้โรคตับพิการ แก้ดีซ่าน

ข้อมูลที่มูลนิธิสุขภาพไทยเก็บรวมรวมไว้ก็พบว่ามีชาวบ้าน เอากาฝากมะม่วงทั้งต้น ต้มกินต่างน้ำ แก้อาการปวดหัว และยังพบข้อมูลที่มีการใช้ของชาวบ้านว่า นำกาฝากของต้นมะม่วงมาตากแห้ง ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชา หรือนำมาตากแห้งคั่ว แล้วชงดื่มแทนน้ำได้ตลอดเวลาที่หิวน้ำ เสมือนเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

กาฝากมะม่วงมีชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrophthoe pentandra (L.) Miq. เป็นพืชเบียนในวงศ์ Loranthaceae ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวแผ่นใบหนา ผิวเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ดอกช่อ สีเขียวนวลหรือค่อนข้างแดง ผลรูปไข่หรือรูปคนโท ผลเดี่ยว ผลแก่เป็นสีเขียวหรือแดงคล้ำ สุกสีส้ม มีเมล็ดเดียว เมล็ดมียางเหนียวติดมือ ผลเป็นอาหารของสัตว์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอัสสัม บังคลาเทศ บอร์เนียว กัมพูชา ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศจีน ชวา ลาว หมู่เกาะซุนดา มาเลเซีย เมียนมาร์ เนปาล ฟิลิปปินส์ สุมาตรา ไทยและเวียดนาม

รายงานการศึกษาของกรมป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ พบต้นไม้ที่กาฝากมะม่วงไปเกาะ จำนวน 42 ชนิด คือ มะม่วง มะกอก น้อยหน่า การเวกหรือกระดังงาจีน ลีลาวดี โมกบ้าน ปีบ ปีบทอง แคทราย เหลืองอินเดีย งิ้ว สำโรง จามจุรี หางนกยูงไทย กัลปพฤกษ์ คูน นนทรี ประดู่ ขี้เหล็กอเมริกัน สนทะเล หูกวาง หูกระจง มะยม ตะขบควาย สัก อโวคาโด กระโดน ตะแบก ทับทิม จำปา โคลงเคลง สะเดา ขนุน กร่าง มะเดื่อกวาง แปรงล้างขวด ยูคาลิปตัส หว้า ทองกวาว แคบ้าน พุทรา มะกรูด พิกุล

จากการเก็บรวบรวมและการสัมภาษณ์ความรู้ของหมอพื้นบ้านพบว่า แม้จะเป็นกาฝากชนิดเดียวกัน แต่ถ้าไปเจริญบนต้นไม้ต่างชนิดกันก็จะมีคุณสมบัติทางยาสมุนไพรแตกต่างกัน จากภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านนี้ย่อมแสดงว่า กาฝากมะม่วงที่เจริญได้บนต้นไม้ทั้ง 42 ชนิดน่าจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน

สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า ในปี ค.ศ. 2017 มีรายงานว่าสารสกัดจากกาฝากมะม่วงมีศักยภาพในการลดการอักเสบในลำไส้ได้ดี นอกจากนี้รายงานวิทยานิพนธ์ของคิดคม สเลลานนท์ (2541) อ้างโดยกรมการแพทย์แผนไทยฯว่า กาฝากมะม่วงทางการแพทย์แผนไทย มีรสเย็น มีสรรพคุณแก้ปวดศีรษะและแก้ความดันโลหิตสูง และหมอพื้นบ้านหลายท่านนิยมใช้กาฝากมะม่วงกะล่อนหรือมะม่วงสามฤดูในการทำยา โดยต้องเอาไปตากแห้งและคั่วไฟให้หอมก่อนนำไปใช้ประกอบกับยาสมุนไพรอื่นเพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เมื่อศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าสารสกัดใบกาฝากมะม่วงที่สกัดด้วยตัวทำละลายทั้ง 3 ชนิดได้แก่ เฮกเซน ไดคลอโรมีเทนและเอทานอล ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันเลือดสูงโดยใช้คลิปเงินที่มีขนาดรูเปิดภายใน 0.20 มิลลิเมตรหนีบที่หลอดเลือดไตข้างซ้าย ส่วนไตข้างขวายังคงอยู่ตามปกติ (One-clip two-kidney Goldblatt hypertension) พบว่าสามารถลดความดันเลือดของหนูขาวที่ความดันเลือดสูงได้ระดับหนึ่ง โดยมีฤทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะหรือยับยั้งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก แต่อาจมีฤทธิ์ที่ส่งผลต่อการขยายหลอดเลือดและการลดอัตราการเต้นของหัวใจที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดความดันโลหิตได้ อย่างไรก็ตามในเวลานี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยในมนุษย์

ในอินโดนีเซียมีการใช้กาฝากมะม่วงเข้ายารักษา อาการไอ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง ขับปัสสาวะ อีสุกอีไส โรคกระเพาะ โรคผิวหนัง และดื่มบำรุงกำลังหลังคลอด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเชิงลึกที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ จากประเทศอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 2012 พบว่าสารสกัดจากใบของกาฝากมะม่วงที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ในหลอดทดลอง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและต้านภาวะเบาหวาน และยังได้มีการศึกษากาฝากมะม่วงที่ได้มาจากต้นคีเปล (Stelechocarpus burahol) มะกอกฝรั่ง (Spondias dulcis) น้อยหน่า (Annona squamosa) และ ต้นชา (Camellia sinensis) โดยสกัดด้วยน้ำพบว่า ไม่มีพิษต่อกุ้ง ให้ผลในการต้านภาวะเบาหวาน แต่ไม่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูล แสดงให้เห็นว่ากาฝากที่เจริญบนต้นไม้ทั้ง 4 ชนิดมีสรรพคุณไม่แตกต่างกัน

ข้าวเหนียวมะม่วงได้รับความนิยมสูง ฤดูกาลมะม่วงก็กำลังจะมา และในไทยก็มีการกระจายของกาฝากมะม่วงเป็นจำนวนมาก กาฝากมะม่วงจึงไม่น่ารังเกียจแต่เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าที่ควรทำการศึกษาให้กว้างขวางและลึกซึ้งต่อไป