กาฝาก ก็เป็นยาสมุนไพร

กาฝาก เป็นคำที่กล่าวขึ้นทีไรก็นึกคิดถึงความรู้สึกในแง่ลบขึ้นมาทันที เพราะคำศัพท์นี้มีความหมายว่าเกิดการเบียดเบียนกันเกิดขึ้น มีการเกาะเหมือนจะเอาเปรียบกันบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย เพราะ คำว่า กาฝาก หมายถึงพืชขนาดเล็กที่ไปอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชขนาดใหญ่ แม้ว่าจะดูเหมือนว่าพืชพวกนี้เป็นที่น่ารังเกียจ แต่ในสังคมไทยตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วกลับมีการใช้ประโยชน์จากกาฝากเป็นสมุนไพรจำนวนไม่น้อย

จากการศึกษาอย่างคร่าว ๆ พบว่ากาฝากในเมืองไทยมีไม่น้อยกว่า 90 ชนิด และที่มีรายงานการใช้ที่เป็นยาของหมอพื้นบ้านก็พบได้ไม่น้อยกว่า 60 ชนิด แต่ยังขาดการศึกษาเชิงลึกว่ากาฝากที่มีการนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรของหมอพื้นบ้านเหล่านี้ เป็นกาฝากชนิดใดบ้างเพราะกาฝากบางชนิดในทางพฤกษศาสตร์อาจจัดว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่หมอยาพื้นบ้านมักเรียกไปตามชนิดของต้นไม้ที่กาฝากนั้นไปเบียนหรือไปเกาะอยู่ เช่น กาฝากมะม่วง มีรายงานว่าสามารถไปเบียนต้นไม้ได้ไม่น้อยกว่า 40 ชนิด เช่น เมื่อไปเกาะบนต้นมะม่วง เรียกว่ากาฝากมะม่วง เมื่อไปเบียนต้นเหมือดแอ่ ก็เรียกว่ากาฝากเหมือดแอ่ เป็นต้น

กาฝากชนิดเดียวกันเมื่อไปเบียนอยู่คนละต้น แต่ภูมิปัญญาหมอยาพื้นบ้านบอกว่ามีสรรพคุณต่างกัน ซึ่งก็ตรงกับรายงานของการวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า กาฝากเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการสูง เมื่อไปเบียนกับต้นไม้ต่างชนิดกันสามารถผลิตสารที่มีสรรพคุณแตกต่างกันออกไป กาฝากทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือกาฝากที่เบียนกับรากของต้นไม้ และกาฝากที่เบียนกับกิ่งและต้นของต้นไม้ ที่น่าประหลาดใจคือชื่อของกาฝากที่เบียนกับรากของต้นไม้ไม่มีชนิดใดเลยที่มีคำนำหน้าว่ากาฝาก ในขณะที่กาฝากที่เบียนกับกิ่งและลำต้น มีคำนำหน้าว่ากาฝากทั้งสิ้น (คล้ายชีวิตจริงมีคนมาแอบดูดอะไรบางอย่าง แต่คนไม่รู้สึก ฮา)

กาฝากที่เบียนกับรากของต้นไม้ในประเทศไทย มีรายงานพบในประเทศไทย จำนวน 19 ชนิด อยู่ใน 3 วงศ์ คือ 1) วงศ์ขนุนดิน Balanophoraceae จำนวน 5 ชนิด 2) วงศ์ดอกดิน Orobanchaceae จำนวน 10 ชนิด และ 3) วงศ์กระโถนฤๅษี Rafflesiaceae จำนวน 4 ชนิด

กาฝากที่เบียนกิ่งและลำต้น มี 3 สกุล จำนวน 90 ชนิด ได้แก่
วงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) จำนวน 4 ชนิด เช่น ฝอยทอง (Cuscuta chinensis Lam.)
วงศ์อบเชย (Lauraceae) จำนวน 1 ชนิด คือ สังวาลพระอินทร์ (Cassytha filiformis L.)
วงศ์กาฝาก (Loranthaceae) จำนวน 42 ชนิด
วงศ์ย่านตีเมีย (Santhalaceae) จำนวน 22 ชนิด

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ชนิด ที่อยู่ในวงศ์ Gesneriaceae ไม่ได้มีลักษณะวิสัยเป็นกาฝาก แต่กลับมีชื่อเรียกว่ากาฝาก คือ กาฝากก่อตาหมูชนิด Aeschynanthus andersonii C.B.Clarke และชนิด Aeschynanthus mannii Kurz ex C.B.Clarke
ไม้กาฝากนอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้วในวัฒนธรรมไทยยังมีการใช้เป็นวัตถุมงคลด้วย (ไม่คิดว่าเป็นเรื่องแง่ลบ) เช่น กาฝากกาหลง กาฝากรักซ้อน มหาเสน่ห์ กาฝากมะยม กาฝากมะรุม กาฝากมะขาม เมตตา มหานิยม กาฝากขนุน กาฝากมะดัน กาฝากยอ กาฝากคูณ กาฝากไม้พยุง (คือกาฝากมะม่วง) มีความเชื่อในสังคมไทยว่าอานุภาพกาฝาก คือ มหาเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ รวมถึงโชคลาภค้าขาย แคล้วคลาดกันภัยโชคลาภ ค้าขายรุ่งเรือง แคล้วคลาด เกื้อหนุนให้เป็นใหญ่เป็นโต

เนื่องจากกาฝากเป็นทั้งพืชสมุนไพรตามภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วบางชนิดยังเป็นไม้ประดับได้ด้วย ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีความรู้ในการปลูกกาฝากด้วย โดยกล่าวไว้ว่ากาฝากจะเติบโตได้เฉพาะบนลำต้นหรือกิ่งก้านของไม้ยืนต้นชนิดใบเลี้ยงคู่เท่านั้น ส่วนพืชชนิดใบเลี้ยงเดี่ยวไม่สามารถเจริญได้ การปลูกหรือขยายพันธุ์กาฝากนั้นทำได้ด้วยการเก็บผลสุกของกาฝาก พบได้ในช่วงเดือนเดือนมีนาคมหรือเมษายน นำผลสุกมาฝังลงบนเปลือกของไม้ยืนต้นที่ต้องการให้เกิดกาฝาก

ทั้งนี้ควรเลือกต้นไม้ที่ต้องการปลูกกาฝากให้เป็นชนิดเดียวกับต้นไม้ที่เราเก็บผลกาฝากนั้นเบียนหรืออิงอาศัยอยู่ หรือเป็นชนิดต้นไม้ที่มีลักษณะเปลือกลำต้นใกล้เคียงกัน รวมถึงชนิดต้นไม้ที่เลือกควรเป็นไม้ที่มีกิ่งน้อยหรือทรงพุ่มโปร่ง เพราะกาฝากจะเติบโตได้ดีเมื่อได้รับแสงเต็มที่ ให้เลือกปลูกบริเวณกิ่งของต้นไม้ ไม่ควรปลูกลงบนส่วนที่เป็นลำต้น เพราะบริเวณนี้จะไม่ค่อยได้รับแสง ทำให้ต้นกาฝากไม่งอกหรือเติบโตได้ไม่ดี กิ่งไม้ที่ใช้ปลูกกาฝาก ไม่ควรเป็นกิ่งขาดเล็ก ควรเลือกกิ่งที่มีขนาดตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป และเป็นกิ่งส่วนบนหรือกิ่งที่สามารถยื่นออกรับแสงได้ เมื่อเลือกกิ่งที่ต้องการได้แล้วให้มองหาจุดร่องแตกของกิ่งหรือใช้มีดกรีดเปลือกกิ่งให้เป็นร่อง ก่อนนำเนื้อผลกาฝากฝังลงบนร่องแตกหรือจุดที่กรีดไว้ ทั้งนี้ ควรฝังผลกาฝากไว้หลายจุดเพราะโอกาสการงอกของเมล็ดกาฝากค่อนข้างต่ำ

คำว่ากาฝากนอกจากจะหมายถึงพืชแล้วยังหมายถึง นก ในกลุ่มนกกาฝาก (Flowerpecker) เป็น
นกชนิดหนึ่ง ตั้งชื่อตามอาหารที่กิน โดยนกจะดูดกินน้ำหวานจากดอกกาฝาก และอาหารโปรดของมันก็คือ ผลกาฝาก นกนี้มีความสำคัญในการแพร่พันธุ์ของพืชพวกนี้ เนื่องจากต้นกาฝากจะต้องขึ้นอยู่บนลำต้นหรือกิ่งก้านของพืชที่ถูกเบียน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้หากร่วงลงสู่พื้นดิน หรือร่วงลงบนกิ่งก้านของพืชที่ถูกเบียนทั้งที่ยังมีเนื้อผลหุ้มเมล็ดไว้ก็ขยายพันธุ์ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยนกกาฝากช่วย เมื่อนกกินผลเข้าไป เมล็ดภายในไม่ถูกย่อย แต่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับมูลนก และเมล็ดยังคงมีเมือกเหนียวๆ คลุมไว้

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากระบบย่อยอาหารของนกกาฝากมีพัฒนาการ คือกระเพาะส่วนท้ายจะอยู่ค่อนไปทางด้านข้างและมีหูรูดปิดเปิด เมื่อนกกินผลกาฝากจะผ่านไปยังลำไส้โดยไม่ผ่านกระเพาะส่วนท้าย ผลจึงถูกย่อยภายในเวลารวดเร็วและยังไม่ทันย่อยเมือกเหนียวนั้น เมล็ดจึงมีเมือกเหนียวติดอยู่ เมื่อนกถ่ายมูลออกมาเมือกเหนียวๆ จะติดอยู่รอบๆ ก้นนก ทำให้ต้องถูก้นไปกับกิ่งไม้เพื่อเช็ดเมือกนั้นออก ทำให้เมล็ดจึงติดอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้านพร้อมที่จะเจริญเป็นต้นกาฝากเกาะดูดน้ำ สารอาหารจากพืชต้นนั้นต่อไป

นี่คือความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ต้นกาฝากจะแพร่พันธุ์ไม่ได้ถ้าไม่มีนกกาฝากขณะเดียวกันนกกาฝากก็จะไม่มีแหล่งอาหารถ้าไม่มีต้นกาฝากเช่นกัน ถึงแม้นกพวกนี้จะกินน้ำหวาน และผลจากพืชชนิดอื่นบ้าง แต่อาหารหลักก็ยังคงมาจากต้นกาฝากอยู่ดี เราเรียกความสัมพันธ์เช่นนี้ว่า เป็นความสัมพันธ์แบบภาวะพึ่งพา (mutualism) นกกาฝากมีอยู่หลายชนิด ที่พบได้ในกรุงเทพหรือในเขตเมืองได้บ่อยๆ คือ นกสีชมพูสวน (Scarlet-backed Flowerpecker) เป็นนกขนาดเล็ก

ต้นฉบับกาฝากจากพืชไม่ใช่เรื่องร้าย แต่เป็นยาสมุนไพร จะค่อยๆ นำภูมิปัญญาแชร์กัน.

บทความที่เกี่ยวข้อง