ข้อมูลชี้!! สังคมที่แปลกแยก ทำคนไทยเสี่ยงฆ่าตัวตาย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 8 แสนราย เฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการเสียชีวิตด้วยการฆาตกรรมและสงครามรวมกัน อีกทั้งคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) จะมีคนเสียชีวิต ด้วยปัญหาดังกล่าว 1.53 ล้านคน โดยได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันใน 194 ประเทศสมาชิก แก้ไขปัญหาและลดอัตราการฆ่าตัวตายลง ให้ได้ถึงร้อยละ 10

สำหรับประเทศไทยปี 2556 ที่ผ่านมามีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 3,900 ราย เฉลี่ยเดือนละ 328 คน หรือวันละ 10-12 คน หรือ 1 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมง ส่วนภาคที่ยังคงมีปัญหาการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่นๆ คือภาคเหนือ สูงสุดอยู่ที่ จ.ลำพูน ขณะที่การฆ่าตัวตายต่ำสุดจะอยู่ที่ภาคใต้ จ.ปัตตานี โดยช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 ปี อายุสูงสุดที่ฆ่าตัวตายคือ 105 ปี (จ.แม่ฮ่องสอน) และอายุต่ำสุดคือ 10 ปี (3 ราย คือ จ.นครปฐม สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี) โดยวิธีที่นำมาฆ่าตัวตายมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 67 คือการแขวนคอ รองลงมาคือใช้ยากำจัดวัชพืช/ฆ่าแมลง และใช้ปืนตามลำดับ

ทั้งนี้จากการศึกษาถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย พบว่าเกิดจากปัญหาด้านการสื่อสาร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยพบว่าก่อนการฆ่าตัวตายร้อยละ 52.2 จะมีชีวิตที่เป็นปกติดี แต่จะลงมือทันทีเมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจเข้ามาบีบคั้น ขณะที่ ร้อยละ 47.8 จะมีปัญหาชีวิตสะสมมานานและมากจนถึงขีดสุดไม่สามารถฟื้นคืนพลังความเข้มแข็งทางใจได้ และยังพบอีกว่าการถูกคนใกล้ชิด ซุบซิบ ว่าร้ายให้อับอาย ทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหานี้ถึง 2.8 และหากมีการดื่มสุราในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จะทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า แม้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเกิดจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยา สังคม ชีววิทยา แต่ก็พบว่ามีเหตุปัจจัยร่วมที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันได้ ซึ่ง หนึ่งในนั้น คือ ความรู้สึกผูกพันหรือการสานสัมพันธ์ของสังคม (Connectedness)มีการศึกษา พบว่า “สังคมที่แปลกแยกมาก” จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตรงกันข้าม “ความผูกพันสานสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น”จะช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ความรู้สึกผูกพันหรือการสานสัมพันธ์ของสังคมเป็นความรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคนอื่น เป็นที่รัก ได้รับความห่วงใยเป็นส่วนหนึ่งของคนอื่น เช่น พ่อแม่ เพื่อนฝูง ครู อาจารย์ คนในชุมชนและสังคม ไม่เพียงแต่ความใกล้ชิดทางร่างกายหรือการสัมผัสภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกผูกพัน อบอุ่นใจว่ายังมีใครอยู่เคียงข้าง แม้ในความเป็นจริงอาจไม่ได้อยู่ร่วมกันหรืออยู่ใกล้กันก็ตาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพและภาวะทางอารมณ์ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เครียดน้อย ป้องกันโรคเรื้อรัง และยังทำให้เกิดเครือข่ายสังคมสุขภาพ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการ ตลอดจนรู้เท่าทันปัญหาสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้

“วันที่ 10 ก.ย.ของทุกปี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ถูกกำหนดให้เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” โดยปีนี้จะมีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Suicide Prevention : One World Connected” (ทั่วโลกประสานใจ ป้องกันการฆ่าตัวตาย)” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ที่มา : ไทยโพสต์ 10 ก.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนไทย 74% กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ

admin 6 เมษายน 2019

สสส.เผยคนไทย 74% กินผัก-ผลไม้ไม่เพียงพอ ชวนคนไทยปลูกผัก […]

ผลสำรวจพบคนไทยที่กินอาหารสุกๆดิบๆลดลง

admin 6 เมษายน 2019

ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เ […]

คนไทยลดกินเค็ม

admin 5 เมษายน 2019

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผย “ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโ […]