ข้าวเม่านก ยาสมุนไพรไม่ใช่อาหารของนก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้าวเม่านก คือชื่อพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้ตามภูมิปัญญากันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้จัก

ข้าวเม่านก เป็นพืชในวงศ์ถั่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Tadehagi triquetrum (L.) H.Ohashi ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ข้าวเม่านกคอกิ่ว (ภาคกลาง) ขี้กะตืก  ขี้กะตืกแป(เลย ภาคอีสาน) มะแฮะนก (เชียงใหม่)หญ้าคอตุง (ลำปาง) นอจูบี้ กวางหินแจ๊ะ (ปกาเกอะญอ) หนอนหน่าย (ลาว) ข้าวเม่านก เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงประมาณ 15-50 เซนติเมตร กิ่งก้านเป็นสันเหลี่ยม แตกสาขามาก  ยอดและกิ่งอ่อนสีแดงมีลักษณะเป็นมันเหลือบ ใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่หรือรูปใบหอก แผ่นใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขน ดอกเป็นช่อกระจะ รูปทรงกระบอก กลีบดอกเป็นสีม่วง ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ผลเป็นฝักแบนยาว คอดเป็นข้อ  6-8 ข้อ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง ผลแห้งสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ในภาคอีสานเรียกชื่อตามลักษณะผลว่า “ขี้กะตืกแป” เพราะผลแบน ๆ คล้ายขี้กะตืกหรือพยาธิตัวแบนนั่นเอง ผลนี้มีขนเมื่อคนเดินผ่านจะติดตามเสื้อผ้าได้ ในเมืองไทยข้าวเม่านกเป็นพืชขึ้นได้ทั่วไปทั้งในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร ขึ้นตามไหล่เขา ทุ่งหญ้า ชอบขึ้นในที่รกร้างหรือริมทางด้วย และพบได้ในศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า  ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ

เมื่อข้าวเม่านกกระจายอยู่ทั่วไป จึงมีภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้เป็นยาสมุนไพรมากมาย ถ้าใช้ส่วนราก ในตำรับยาชื่อ “ยาแฮงสามม้า” (สมุนไพรชื่อม้าสามชนิด) ใช้รากของม้าสามต๋อนหรือที่เคยรู้จักกันในนาม “สาวน้อยร้อยผัว”(Asparagus racemosusWilld.) ม้าแม่ก่ำ (Polygala chinensis L.) และข้าวเม่านก ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกว่า ตานคอม้า (Tadehagi triquetrum (L.) H.Ohashi) นำราก 3 อย่างมาต้มกินหรือดองกับเหล้า กินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และบำรุงเลือดลม

รากข้าวเม่านก ใช้ผสมกับ รากอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane&Mabb.) ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย  ถ้าใช้ทั้งต้นจะช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและวัณโรค โดยนำมาต้มเคี่ยว ใช้ดื่มวันละ 1 แก้ว เป็นประจำทุกวัน ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนใช้รากต้มน้ำ กินเป็นยาแก้อาการเจ็บท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ชาวขมุใช้รากข้าวเม่านกและสมุนไพร 2-3 ชนิด ต้มกับน้ำ กินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ชาวลั้วะและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนใช้รากต้มกับน้ำ กินเป็นยาแก้ปวดหลังปวดเอว ตำรายาพื้นบ้านบางแห่งใช้รากต้มกับน้ำ กินหรืออาบแก้อาการปวดบวม

ตำรับยาที่ใช้ ใบ เช่น นำใบต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาช่วยบำรุงประสาท กิ่งและใบใช้เป็นยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนในได้ วิธีทำเช่น นำกิ่งมาผสมกับผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L.) Merr.) ก้านตรง (Colubrina asiatica (L.) Brongn.) เอาสมุนไพรทั้งหมดต้มน้ำกินเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน หรือใช้ใบชงกับน้ำร้อนกินก็ได้ ใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) นำมาคลุกกับน้ำยำกินเป็นยาขับปัสสาวะและช่วยลดความร้อนในร่างกาย ใบต้มกับน้ำกินยังเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคตานซาง แก้อาการผอมเหลือง ชาวไทลื้อจะใช้ใบและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฆ่าพยาธิ กินทุกวันอย่างน้อย 1 เดือน  ใบยังใช้เป็นยาภายนอก เช่น ใช้ใบแห้งของข้าวเม่านกกับใบแห้งกระดังงา แช่น้ำมันงา ใช้ทาผมหรือหมักผม 30 นาที ค่อยสระออก ใช้เป็นยาแก้รังแคหรือการติดเชื้อบนหนังศีรษะ ใบสดยังใช้ตำพอกหรือนำมาบดใส่แผลและแผลมีหนอนในวัวควาย ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ใบสดปิดปากไหหมักปลา เพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่ได้ด้วย  

            การใช้ข้าวเม่านกทั้งต้น เช่น หมอยาพื้นบ้านอีสานใช้ต้นนำมาต้มน้ำให้เด็กอาบ ซึ่งก่อนอาบให้กิน 3 อึก เป็นยาแก้ซาง แก้เด็กผอมจ่อย(ผอมแห้ง)ไม่แข็งแรง พุงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าเด็กน้อยเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ น้ำมูกไหล ก็ใช้ทั้งต้นนำมาแช่กับน้ำกิน ถ้าใครมีอาการเหม็นในหูและโพรงจมูก ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกิน โดยให้กินไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย ใครที่มีอาการปอดไม่ค่อยดี ก็จะใช้ทั้งต้นต้มกิน กินครั้งละ 1 ถ้วย เช้าและเย็น หรือนำใบแห้งบดให้เป็นผงกินครั้งละ 1 กรัมผสมกับน้ำอุ่น กินเช้าและเย็นจนกว่าจะหาย

การใช้ทั้งต้นและราก มีความน่าสนใจโดยดูจากภูมิปัญญาของชนเผ่า ใช้ต้มกินหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ เป็นยาขับปัสสาวะ โรคกระเพาะอาหาร เป็นยาแก้โรคตับ ตับอักเสบ และดีซ่าน เป็นยาบำรุงไต และเฉพาะชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง แม้ว และมูเซอ ต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย  แก้อาการอ่อนเพลีย รวมถึงอาการปวดหลัง ชาวชาติพันธุ์เชื่อว่าการไม่มีแรงหรือร่างกายอ่อนเพลียมักจะเกิดจากเลือดลมเดินไม่สะดวก ยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้เลือดสะอาด แข็งแรง เลือดลมเดินได้สะดวก จึงช่วยให้เรี่ยวแรงฟื้นคืนกลับมา

            ในต่างประเทศมีรายงานว่าใช้ใบชงเป็นชามีแทนนินสูง 7 – 8.5 % โดยทั่วไปมีการนำใบสดมาต้มดื่มรักษาริดสีดวงทวาร ใบสดนำมาหมักกับน้ำดื่มแก้ปวดท้อง รากใช้เป็นยาแก้ไข้ ทั้งใบและผลใช้ขับปัสสาวะและละลายนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ  รากนำมาต้มหรือแช่น้ำดื่มแก้ไอเรื้อรัง อายุรเวทในศรีลังกาใช้ทั้งต้นเป็นยาขับพยาธิ แก้อาการชักกระตุกในเด็ก แก้ฝีหนอง แก้ปัญหาที่เกิดความผิดปกติในกระเพาะและทางเดินปัสสาวะ ใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้ปวดเอวด้วย

ข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ข้าวเม่านก มีสารพวก condensed tannins จึงมีคุณสมบัติในการช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อโรค ยังมีคุณสมบัติคล้ายสารกันบูดด้วย เมื่อปี พ.ศ.2553 มีรายงานพบว่าข้าวเม่านก มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase เช่นเดียวกับต้นเครือเขาแกบ (Ventilago denticulate Willd.) การพบฤทธิ์ดังกล่าวนับเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนายารักษาโรคหัวใจ โรคหอบหืด รักษาอาการซึมเศร้า ปรับระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ไปจนถึงช่วยบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

คงนึกไม่ถึงว่าพืชล้มลุกชื่อแปลกจนคิดว่าเป็นวัชพืช ข้าวเม่านก เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าศึกษาให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นจนพัฒนาให้เป็นยาที่ดีให้กับประชาชนคนทั่วไปได้