ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงมีคุณค่าเหลือคณา

ข้าวโพดเป็นพืชที่มีผู้นิยมบริโภคแพร่หลาย แต่มีหลายชนิดหลากหลายสายพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ วารสารผลิใบได้รายงานเอาไว้ เห็นว่ามีประโยชน์จึงขอนำเอามาเปิดเผยให้ได้รู้กัน

ข้าวโพดเป็นพืชจำพวกหญ้าต้นตั้งตรง แข็งแรง สูงประมาณ 1.5 เมตร เนื้อในลำต้นคล้ายฟองน้ำ ใบเป็นเส้นตรง ปลายแหลม ยาวประมาณ 30.100 ซม. เส้นกลางใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบจะมีขนอ่อนๆ ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอด ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาระหว่างกาบใบและลำต้น ฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะมีสีเหลืองนวล

คนไทยรู้จักข้าวโพดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำเข้าโพดเลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ขณะนั้นยังรู้จักกันน้อย จนสงครามโลกคครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้น เนื่องจากหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตาม ผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จักใช้ข้าวโพดมากกว่าเดิม แต่เนื่องจากขณะนั้นมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงเป็นเพียงส่วนประกอบอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงรู้จักข้าวโพดกันทั่วไป

เราสามารถจำแนกข้าวโพดตามพฤกษศาสตร์ โดยนำลักษณะของแป้งและเปลือกหุ้มเมล็ดมาเป็นหลักแบ่งได้ 7 ชนิดคือ

ข้าวโพดหัวบุบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อินเคนทาทา เมล็ดส่วนบนมีรอยบุ๋ม เนื่องจากมีแป้งอ่อน และส่วนข้างเป็นแป้งชนิดแข็ง เมื่อเมล็ดแห้ง แป้งอ่อนจะยุบเป็นลักษณะหัวบุ๋ม ลำต้นสูงเหมือนข้าวโพดทั่วไป สีเมล็ดขาว เหลือง หรือสีอื่นๆ แล้วแต่พันธุ์ ปลูกกันมากในอเมริกา

ข้าวโพดหัวแข็ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อินคูราทา เมล็ดมีแป้งแข็งห่อหุ้มโดยรอบ หัวเรียบไม่ยุบ เมล็ดค่อนข้างกลม ปลูกกันมากในเอเชียและอเมริกาใต้ ข้าวโพดไร่ของไทยที่นิยมปลูกกันเป็นชนิดนี้ทั้งสิ้น สีเมล็ดอาจเป็นสีขาว เหลืองหรือม่วง หรือสีอื่นๆ

ข้าวโพดหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส แชคคาราทา นิยมปลูกกันแพร่หลายเพื่อรับประทานฝักสด เพราะมีน้ำตาลมาก เมื่อแก่เต็มที่เมล็ดที่แห้งจะหดตัวเหี่ยวย่น เนื่องจากน้ำตาลไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแป้งได้

ข้าวโพดคั่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อีเวอร์ทา เมล็ดค่อนข้างเล็ก มีแป้งประเภทแข็งอยู่ภายใน ภายนอกหุ้มด้วยเยื่อที่เหนียวและยืดตัวได้ เมล็ดมีความขื้นภายในพอสมควร เมื่อถูกความร้อนจะเกิดแรงดันภายใน เมล็ดระเบิดตัวออกมา เมล็ดอาจมีลักษณะกลมหรือแบนก็ได้ มีสีต่างๆ เช่น เหลือง ขาว ม่วง

ข้าวโพดแป้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อะมิโลเซีย เมล็ดประกอบด้วยแป้งชนิดอ่อนจำนวนมาก เมล็ดค่อนข้างกลม หัวไม่บุบหรือบุบเล็กน้อย นิยมปลูกในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ชาวอินเดียนแดงนิยมปลูกไว้เป็นอาหาร

ข้าวโพดป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส ทูนิกา มีลักษณะใกล้เคียงกับข้าวโพดพันธุ์ป่า มีลำต้นและฝักเล็กกว่าข้าวโพดธรรมดา มีขั้วเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีเปลือกหุ้มฝักอีกชั้นหนึ่ง ข้าวโพดชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปลูกไว้ศึกษาเท่านั้น

ข้าวโพดข้าวเหนียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส เซอราทินา เมล็ดมีแป้งอ่อนคล้ายแป้งมันสำปะหลัง นิยมปลูกเพื่อรับประทานฝักสดคล้ายข้าวโพดหวาน แม้จะไม่หวานมาก แต่เมล็ดนิ่ม รสอร่อย มีติดฟัน เมล็ดมีสีต่างๆ กัน เช่น เหลือง ขาว ส้ม ม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน

ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่กำลังนิยมของผู้บริโภคในขณะนี้ พบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด เป็นพันธุ์ที่พัฒนาของบริษัทเอกชน ทำให้ได้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงที่มีฝักใหญ่ รสชาตินุ่ม หวาน และเหนียว

สารสีม่วงเข้มในเมล็ดเป็นสารแอนโทไซยานิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ในระดับสูง ช่วยลดอาการเกิดมะเร็งชนิดเนื้องอก เสริมความคุ้มกันของร่างกาย ต่อต้านเชื้อโรค สมานแผล เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดแดง ชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ลดภาวะการเป็นโรคหัวใจ ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและชะลอความแก่

การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงเริ่มจากไถตากดินไว้ 3-5 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอก 1 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้สามารถอุ้มน้ำได้นาน และเพิ่มธาตุอาหารให้ข้าวโพด แล้วไถแปรเพื่อย่อยดินให้แตกละเอียด เหมาะกับการงอกของเมล็ด

เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวได้ 2 วิธีคือ ปลูกแบบแถวเดี่ยว เว้นระยะระหว่างแถว 75 ซม. ระยะห่างระหว่างต้น 20-25 ซม. ปลูกหลุมละ 1 ต้น ปลูกแบบแถวคู่ ต้องยกร่องสูง ระยะห่างระหว่างร่อง 120 ซม. ปลูกเป็น 2 แถวข้างร่องห่างกัน 30 ซม. และระยะห่างระหว่างต้น 25-30 ซม. หลุมละ 1 ต้น ทั้ง 2 วิธีจะได้ประมาณ 7,000-8,000 ต้นต่อไร่ เมื่อปลูกได้ 7 วัน ข้าวโพดอยู่ในระยะกำลังงอก ต้องระวังเรื่องการให้น้ำ เพราะหากขาดน้ำในระยะนี้จะงอกไม่ดี จำนวนต้นต่อพื้นที่จะน้อยลง ส่งผลต่อผลผลิตไม่เต็มที่

เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน ถ้ามีอาการเหลืองไม่สมบูรณ์ ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 25 กก.ต่อไร่ โรยข้างต้นในขณะที่ดินมีความชื้น หรือให้น้ำตามเพื่อบำรุงต้น โดยปกติแล้วจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่อมีอายุประมาณ 60-70 วันหลังปลูก แต่ระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุดคือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50% หมายถึงข้าวโพด 100 ต้น ออกไหม 50 ต้น แต่หากปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็น อายุการเก็บเกี่ยวก็จะยืดออกไปอีก

การดูแลรักษา หากแปลงปลูกมีวัชพืชมากจะส่งผลให้ข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ผลผลิตลดลง ควรกำจัดวัชพืชในแปลง โดยใช้อลาคลอร์ฉีดพ่นลงดินหลังการปลูกก่อนที่วัชพืชจะงอก ขณะที่ดินมีความชื้น สำหรับช่วงฝนตกชุก ต้นข้าวโพดจะเสี่ยงต่อโรคราน้ำค้างได้ง่าย ควรใช้สารเคมีป้องกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

การนึ่งข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงให้อร่อย เริ่มจากเตรียมหม้อนึ่ง ต้มน้ำให้เดือด ระหว่างนี้ปอกเปลือกข้าวโพดออก โดยปอกให้เหลือเปลือกหุ้มฝัก 2-3 ชั้น เพื่อเป็นการรักษาสารแอนโทไซยานินให้อยู่ในเมล็ด ทำให้เมล็ดเต่งตึงน่ารับประทาน จากนั้นนำฝักข้าวโพดที่ปอกแล้ววางเรียงลงในหม้อนึ่งที่น้ำเดือดแล้วปิดฝา ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 25-30 นาที ควรปล่อยให้ฝักข้าวโพดเย็นลงจนอยู่ในระดับอุ่นๆ จึงรับประทาน จะทำให้สีม่วงไม่ติดมือเวลารับประทาน รวมถึงรสชาติคุณค่าทางอาหารยังคงเดิม

ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารนานาชนิด เนื่องจากให้พลังงานสูง ในเมล็ด 100 กรัมนั้นประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม โปรตีน 11.1 กรัม เกลือแร่ 1.7 กรัม ไขมัน 4.9 กรัม และเส้นใยหยาบอีก 2.1 กรัม และยังมีวิตามินที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย เช่น วิตามินซีเอในรูปเบต้าแคโรทีน วิตามินอีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ รวมถึงลูทีนและซีแซนทิน ซึ่งเป็นสารคาโรคีนอยด์ ช่วยป้องกันตาเสื่อม

ในส่วนของสรรคุณทางยาที่คนโบราณค้นพบและนำมาใช้อย่างแพร่หลายคือ เมล็ดข้าวโพดใช้รับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย หัวใจ ปอด ขับปัสสาวะ นำมาบดรักษาแผล ใช้ซังต้มน้ำดื่มแก้บิด ท้องร่วง ต้น ราก และไหมข้าวโพด รสจืดหวาน ต้มเอาน้ำดื่มขับปัสสาวะได้อย่างดี เพื่อสุขภาพที่ดีจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินมาก หรือพึ่งอาหารเสริมใดๆ ที่มีราคาแพง เพียงแต่เลือกรับประทาน ศึกษาข้อมูล สารอาหาร ประโยชน์ของอาหารชนิดนั้นๆ ก็จะทราบว่าอาหารที่มีประโยชน์อยู่ไม่ไกล แค่ตลาดใกล้ๆ บ้านเรานั่นเอง

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์

บทความที่เกี่ยวข้อง