คิดถึง”แม่การะเกด” มาปลูกการะเกดกันดีกว่า

พี่หมื่นกับแม่การะเกด ลาจอ ขอลาก่อน ทำเอาสาว ๆ หนุ่ม ๆ เกิดอาการ “ลงแดง” ถึงขั้นคาดการณ์ว่าจะมีบางคนเข้าข่ายคิดถึงความสุขของบุพเพสันนิวาสจนมีอาการ “ซึมเศร้า” เพราะจำต้องพลัดพรากข้ามกาลเวลากันทีเดียว แฟนละครจำนวนมากหันกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ นุ่งชุดไทยไปเที่ยวโบราณสถานกันอึดตะปือนัง แต่ยังไม่ค่อยเห็นใครแนะนำพืชนามว่า การะเกด ให้เชยชม จึงขอนำมาเป็นไม้ส่งลานะออเจ้า

เริ่มทำความเข้าใจกันก่อน ต้นการะเกดนี้เรียกแบบชื่อสามัญไทย และมีชื่อเรียกพื้นเมืองไทย ได้อีกว่า การะเกดด่าง ลำเจียกหนู (กรุงเทพมหานคร) เตยด่าง เตยหอม (ภาคกลาง) เกด ดอกเกด (ภาคอีสาน) ซึ่งขอชื่อเรียกว่า ลำเจียกหนู ยังมีชื่อพืชอีกชนิดที่เรียกว่า ลำเจียก (Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze) แต่เป็นพืชคนละต้นจะได้อธิบายกันในโอกาสต่อไป

สำหรับต้นการะเกดต้นนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi อยู่ในวงศ์ Pandanaceae มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Screwpine มีถิ่นกำเนิดที่พบเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เป็นพืชชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลและนำไปปลูกกันทั่วไปได้ ขออธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ให้ละเอียดลออให้ซาบซึ้ง

การะเกด เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็น 3 เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ แผ่นใบด้านล่างมีนวลดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ ดอกจะไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรงมีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลมประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน 3-5 อัน เป็นกลุ่มประมาณ 5-12 กลุ่ม ผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก

ชื่อการะเกดนั้นมักเป็นชื่อเรียกของสตรี การใช้ประโยชน์แต่โบราณก็อาจพูดได้ว่าเป็นต้นไม้ของผู้หญิง ซึ่งรักสวยรักงามชอบความหอม จึงมีการนำเอาดอกการะเกดมาใส่หีบผ้าหรือตู้เสื้อผ้า เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม ใครอยากย้อนยุคหญิงโบราณขนานแท้จะทดลองใช้ดอกอบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอมก็ได้ แม้ไม่หอมฟุ้งแบบปรุงแบบน้ำหอมสกัดแต่ก็หอมได้ใจผู้ใกล้ชิดแน่นนอน เข้าใจว่าทุกวันนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรยังใช้การะเกดในการอบผ้าอยู่เช่นกัน

ในด้านการใช้สมุนไพร ด้วยดอกการะเกดมีกลิ่นหอมจึงนำมาปรุงเป็นยาหอม กินแล้วทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ กินเป็นยาบำรุงธาตุก็ได้ และมีการปรุงใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เสมหะด้วย แล้วก็ตามที่บอกว่าการะเกดนั้นเป็นพืชของผู้หญิงจริงๆ เพราะยอดใบนำมาต้มกับน้ำเพื่อเป็นสมุนไพรให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ๆ ผลแก่จัดจะมีผิวผลเป็นสีแดง นำผลแก่มากินได้มีรสชาติคล้ายสับปะรด ดอกหอมก็กินได้มีรสขมเล็กน้อย

ในอดีตนำดอกนำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันพืชอื่น น้ำมันหมูก็ได้ แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผมด้วย คงจะเอากลิ่นหอมจากดอกมาแต่งกลิ่นน้ำมันใส่ผม หากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางก็น่าจะคิดถึงดอกการะเกด นำไปพัฒนาน่าจะขายดีแน่ นอกจากนี้ใบการะเกดเป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่ายจึงนำมาใช้ในงานจักสาน เช่น เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ

กระแสละครย้อนยุคทำให้คนไทยนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้น ก็ขอชวนย้อนไปในครั้งพุทธกาลเลย หากได้ไปอ่านพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ 5 หน้า 69 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

….สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ โรคลมสงบลง….
และเมื่อดูในเชิงอรรถในหน้าดังกล่าว ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภกธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้งน้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ 1 วัน 2 วัน หรือ 3 วัน เมื่อยานี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน)โรคริดสีดวง เป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้

จึงเห็นได้ว่า การะเกดเป็นเครื่องยาสมุนไพรแต่โบราณ ที่เราน่าศึกษาและนำมาใช้กันในยุคปัจจุบันด้วย การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย มีความทนทาน อายุยืนยาว หาพันธุ์ปลูกได้ง่าย จึงน่านำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แต่เหมาะกับการปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำนะ

ลางทีใครยังคิดถึงออเจ้า มาปลูกต้นการะเกดเป็นเพื่อนดีไหม ?

บทความที่เกี่ยวข้อง