คุ้มครองผู้บริโภค’ทุกวัน?’

30 เมษายน มีความสำคัญอย่างเป็นทางการในฐานะ ‘วันคุ้มครองผู้บริโภค’
ย้อนประวัติกันพอหอมปากหอมคอ ที่มาของการกำหนดวันนี้ขึ้นมาเพื่อชวนให้ทุกคนระลึกถึงสิทธิของผู้บริโภคนั้น เริ่มต้นจากองค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศซึ่งเป็นองค์การอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง จัดตั้งโดยสมาคม ผู้บริโภคของประเทศต่างๆ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆเพื่อหาสมาชิก และ ในปี พ.ศ. 2512 ก็ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อชักจูงองค์การเอกชนของไทยให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้บริโภคขึ้น แต่ในครั้งแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตอนนั้นทั้งองค์การเอกชนของไทยและภาครัฐยังไม่มีความพร้อม ล่วงเลยจนถึงครั้งที่ 3 สหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศจึงได้เดินทางมาอีกในปี พ.ศ. 2519 ในสมัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการ แต่ไม่นานก็ต้องปิดฉากลงไปพร้อมๆกับรัฐบาลยุคนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ที่มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นโดยมีรองนายกรัฐมนตรีสมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธานกรรมการการปฏิบัติงาน โดยรัฐบาลได้นำร่างขึ้นบังคมทูล และได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา

นับตั้งแต่นั้นมาวันที่ 30 เมษายนของทุกปี จึงเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากจะถามว่า 35 ปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีบ้าง ด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่า “ดีขึ้นพอสมควร” โดยเฉพาะความตระหนักในสิทธิและพลังของผู้บริโภค การมีช่องทางที่จะร้องเรียนทวงถามในกรณีที่เกิดความไม่ชอบธรรมกับตนเอง แต่ขณะเดียวกันมาตรการการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคก่อนที่จะเกิดการ เอารัดเอาเปรียบหรือความเสียหายขึ้นก็ยังก้าวหน้าอย่างเชื่องช้า และเมื่อเกิดเหตุแล้ว การจะเอาผิดต่อองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นเต็มไปด้วยขั้นตอนอันยุ่งยากซับซ้อน ล่าช้า จนผู้บริโภคหลายคน ถอดใจ และเลือกที่จะยอม “ทำใจ” มากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังๆมานี้ที่สินค้าประเภทหลอกลวง โฆษณาเกินจริง มีช่องทางมากมายในการหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภค ขณะที่กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคยังขาดประสิทธิภาพ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ทันท่วงที ส่งผลให้ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานตัวเลขผู้ร้องเรียนสูงถึง 3,514 เรื่อง มากที่สุดคือบริการสุขภาพ 1,263 เรื่อง กิจการโทรคมนาคม 749 เรื่อง การเงินการธนาคาร 391 เรื่อง ที่อยู่อาศัย 208 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 196 เรื่อง สินค้าและบริการ 191 เรื่อง และอื่น 229 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากจะไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าของสินค้าและบริการ ยังมีกรณีที่นักวิชาการและสื่อมวลชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งเป็นปัญหาที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น

นอกจากนี้ปัญหาเดิมๆ เช่น การไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทดสอบสินค้าต่อผู้บริโภค การโฆษณาผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา โฆษณาเกินจริง หลอกลวง เป็นเท็จ ไม่มีข้อมูลทางเลือกในการบริโภค ไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจของผู้บริโภค ก็ยังเป็นประเด็นคลาสสิคที่ทำให้การปกป้องสิทธิของ ผู้บริโภคแทบจะกลายเป็นเรื่องชวนฝัน

ดังนั้นข้อหนึ่งที่องค์กรที่ทำงานกับผู้บริโภคมายาวนานต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขความก้าวหน้าในการคุ้มครองผู้บริโภค ก็คือ การเร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการให้ความเห็นในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ

แต่ปัญหาก็คือ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อ การคุ้มครองผู้บริโภคนี้ใช้เวลาในการเสนอยาวนาน ถึง 16 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นครึ่งทางของการ มีวันคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเลยทีเดียว ทว่าปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังคงค้างอยู่ในสภา

ไม่รู้ว่าจะต้องผ่านวันผู้คุ้มครองบริโภคอีกกี่ครั้ง มาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเสียที

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 29 เม.ย.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง