คุ้มครองสุขภาพไทยด้วยมะขามยามโควิด-19

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ทั่วโลกวันนี้พุ่งทะลุเกิน 5 ล้าน และเสียชีวิตกว่า 3 แสน พี่ไทยเรายังมียอดติดเชื้อแค่ 3 พันเศษๆ และยอดตายเพียง 50 กว่าราย  คนส่วนใหญ่อาจจะให้เครดิตกับมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลที่ควบคุมโควิด-19ได้ผล แต่ในวงคุยอย่างไม่เป็นวิชาการของชาวบ้านเชื่อว่าการที่โรคโควิดไม่ระบาดระเบอในไทยแลนด์ ที่ครั้งหนึ่งเคยติดอันดับท็อปเท็นของประเทศติดเชื้อในช่วงระยะแรกจนเกือบเสียชื่อ ทั้งนี้ก็เพราะเชื้อโคโรน่าไวรัสตัวนี้แพ้อากาศฤดูร้อนในบ้านเรา (ฮา) แต่ที่สำคัญคือแพ้ธาตุ 4 ของคนไทยที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารตามธาตุที่สร้างภูมิต้านโรคไวรัสจำพวกไข้หวัดและหวัดใหญ่ต่างๆ ได้(ปรบมือ)

ในช่วงเกิดโรคอุบัติใหม่โควิด-19นี้ มีคำอุบัติใหม่ให้ถกกันเท่ๆคือ New Normal หรือ “วิถีชีวิตปกติอย่างใหม่”  แต่การกินอยู่ของคนไทยในอดีต หรือโอลนอร์มอล (Old Normal) ที่กินอาหารมีไขมันต่ำ อุดมด้วยเครื่องเทศ ผักพื้นบ้านและสมุนไพรนานาชนิด ก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถคุ้มครองสุขภาพของคนไทยได้และยังจะเป็นนิวนอร์มอลหรือวิถีปกติใหม่หลังโรคระบาดผ่านไปแล้วด้วย

มะขาม (ชื่อพฤกษศาสตร์:Tamarindus  indica L.)เป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นไม้พื้นบ้านอันเก่าเก่าแก่ ที่กลายมาเป็นต้นไม้หลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงโปรดเกล้าให้ปลูกประดับรอบท้องสนามหลวง จนคุ้นตาและผูกพันกับคนไทยมากที่สุดชนิดหนึ่ง  ใช้เป็นเขียงใช้สอยในก้นครัว เป็นผลไม้ และขนมสุดโปรดสำหรับหลายๆคนที่ชื่นชอบมะขามหวาน  มะขามแช่อิ่ม  มะขามแก้ว  เป็นต้น และมะขามอยู่ในเมนูอาหารไทยนับร้อยรายการ รสเปรี้ยวนุ่มกลมกล่อมหอมชื่นของน้ำมะขามเปียกไม่แหลมจี๊ดจ๊าดเหมือนรสมะนาว ช่วยชูรสน้ำพริกมะขามอ่อน น้ำพริกมะขามเปียกแนมผัก น้ำปลาหวานราดปลาดุกย่าง น้ำซ็อสราดไข่ลูกเขย ผัดเปรี้ยวหวาน และการที่ชาวบ้านบางถิ่นเรียกมะขามว่าหมากแกง ก็เพราะ นิยมใช้มะขามใส่แกงสารพัดไม่ว่าจะเป็น แกงส้ม  ต้มยำ เพื่อให้แกงมีรสเปรี้ยวหอมหวนชวนกิน แถมยังมีเชฟบางคนคิดเมนูมะขามแหวกแนว ไม่ใช้มะขามเปรี้ยวแต่เอาเนื้อมะขามหวานมาโขลกพริกขี้หนูสดกับตะไคร้ซอย แล้วนำมาคั่วกับหมูสับ เป็นเมนูอาหารไทยใส่มะขามแนวประยุกต์จากอาหารคาวเปรี้ยวมาเป็นคาวหวานตัดรสเผ็ด อร่อยไปอีกแบบ

นอกจากมะขามเปียกแล้ว ใบอ่อนมะขามรสเปรี้ยวอ่อนๆ อมฝาดนิดๆก็นำมาปรุงอาหารรสพิเศษเช่น แกงส้มลูกชิ้นปลากรายใบมะขามอ่อนล้วนๆ ไม่ใส่ผักอย่างอื่นเลย หรือต้มปลาช่อนใบมะขามอ่อน เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงฉายหนังตัวอย่างเมนูอาหารไทยใส่มะขาม ซึ่งไม่เพียงช่วยเรียกน้ำย่อยอร่อยจนลืมอิ่มแต่ไม่อ้วนเท่านั้น แต่มะขามก็ยังมีสรรพคุณยาเด็ดอีกเพียบ  อย่างน้อยในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ก็มีตำรับยากินที่ใช้ส่วนต่างๆของมะขามถึง 45 ตำรับ กระจายอยู่ในหลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด และคัมภีร์วรโยคสาร กล่าวตรงกันว่า รสของเนื้อมะขามแก่ไม่ว่าเปรี้ยวหรือหวาน จะช่วยเจริญไฟธาตุ คือช่วยย่อยอาหาร และในคัมภีร์กษัยยังกล่าวไว้ชัดเจนว่าน้ำมะขามเปียกใช้เป็นกระสายยาแก้กษัยดาน คือ แก้จุกเสียดแน่นหน้าอกบริโภคอาหารมิได้  (ตรงนี้น่าจะเทียบกับโรคกรดไหลย้อนได้นะ) และในคัมภีร์ปฐมจินดากล่าวถึงมะขามที่ใช้รักษาแม่กับเด็กไว้ว่า น้ำมะขามเปียกเป็นกระสายยาชำระโทษของน้ำนมแม่ และเป็นยาระบายสำหรับทารกที่ท้องผูก ส่วนใบมะขามใช้ประกอบยารักษาตานขโมยท้องรุ้งพุงมารในเด็กเล็ก ที่น่าสนใจคือ การใช้ดอกมะขามผสมผักบุ้งไทยทั้งห้า ดอกตำลึง หัวกระชาย ฯลฯ ทำยาบดละเอียด ละลายน้ำแตงกวาหยอดแก้ตาต้อทั้งปวง แก้เคืองตา และช่วยเจริญสีตาคือช่วยให้เด็กมีนัยน์ตาสวยสดใสอีกด้วย  นอกจากนี้ในคัมภีร์ธาตุวิภังค์ยังกล่าวถึงการใช้เปลือกหุ้มเมล็ดมะขามมาปรุงยารสฝาดกินคุมธาตุ แก้บิดแก้ท้องร่วง และใช้ใบมะขามเป็นกำมือปรุงยาแก้เบาขัดปัสสาวะไม่ออก

มะขามเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีงานวิจัย รับรองสรรพคุณการใช้ที่ใกล้เคียงกับการแพทย์แผนไทยพอสมควร เช่น พบว่าในเนื้อผลมีน้ำมันหอมระเหยเฟอร์ฟูรัล (furfural) ซึ่งทำให้น้ำมะขามมีกลิ่นชวนรับประทานและมีกรดอินทรีย์ทาร์ทาริก (tartaric) ที่มีรสเปรี้ยวเป็นอัตลักษณ์  เมื่อฝักมะขามสุกปริมาณกรดนี้จะไม่ลดลง ดังนั้น เนื้อมะขามแก่ก็ยังคงความเปรี้ยวอยู่ ยกเว้นมะขามพันธุ์ที่มีแป้งมากเมื่อฝักแก่แป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลมีรสหวานมาก กรดทาร์ทาริกที่ได้รับจากการบริโภคเนื้อมะขามและน้ำมะขามนี้เองจะช่วยเยียวยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้หลายโรค ที่สำคัญคือ ช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ดีกว่าและปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบันหลายแบรนด์และยังยับยั้งการสร้างไขมันที่ตับ ลดการสร้างไขมันส่วนเกิน (lipid peroxidation) ในร่างกาย  จึงช่วยรักษาโรคอ้วนได้ผลดี ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วแคลเซี่ยมอ็อกซาเลทในกระเพาะปัสสาวะ และเพิ่มการขับปัสสาวะในรายที่ขัดเบายิ่งกว่านั้น สารเป็คติน(pectin)และมัลซิเล็ค(mulcilage) ในผลและเมล็ดมะขามมีฤทธิ์คุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและลดการบวมอักเสบได้ดี และพบอีกว่าน้ำตาลโพลีแซคคาไรด์ในเมล็ดมะขามช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย แต่ส่วนที่สำคัญพอๆกับเนื้อมะขามก็คือใบมะขาม นั่นเอง

พบว่าน้ำใบมะขามต้มเข้มข้น 250 มิลลิกรัม/ลิตร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งและที่น่าตื่นเต้นในสถานการณ์โควิด-19 ก็คือ สารสกัดใบมะขามสามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม  ฟาลซิปาลัม (Plasmodium falciparum) ที่จับไข้ขึ้นสมองได้ ในการรักษาโควิด-19 แบบประคับประคองมีการใช้ยารักษามาลาเรียร่วมด้วย ดังนั้นใบมะขามอาจจะเป็นยาตัวเลือกตัวหนึ่งในการต่อสู้กับโควิดก็ได้  

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะมีข้อเสนอให้ใช้มะขามเป็นยารักษาโควิด-19 โดยตรง  เพียงจะบอกว่าหากร่างกายมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อนต่างๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นภัยโควิด-19ไปได้ และวิถีวัฒนธรรมบริโภคอาหารและยาสมุนไพรที่เป็นวิถีปกติของคนไทยนี่แหละ สามารถตอบโจทย์ได้โดยไม่ต้องรอหวังพึ่งวัคซีนในอนาคตอันใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ไม่รู้.