ชง ครม.ตั้งกองทุนสุขภาพข้าราชการท้องถิ่นฯ 9 พันล้าน

จากกรณีที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตรียมขยายสิทธิการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนสุขภาพ (สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) รักษาได้ทุกแห่ง ไม่ถามสิทธิ โดยจะขยายไปยังข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวน 8 แสนคน เพื่อให้ได้สิทธิที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการดูแลให้ข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นได้รับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิได้ เหมือนกับ 3 กองทุนที่ได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตราดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่เรื่องการรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเทศบาล ยังมีความต้องการให้ สปสช.ดูแลระบบบริการสุขภาพทั้งหมดของข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวทั้ง 8 แสนคนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาระบบไม่รองรับในการดูแลอย่างทั่วถึง บ้างต้องสำรองจ่ายก่อน เป็นหนี้โรงพยาบาล ความไม่สะดวกในการรับบริการต่างๆ ทั้งๆ ที่มีสิทธิเทียบเท่ากองทุนสวัสดิการข้าราชการ

นพ.วินัย กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สปสช.จะใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ในการร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนสุขภาพของข้าราชการท้องถิ่นและครอบครัวขึ้น ซึ่งจะแยกกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เกี่ยวข้องกัน โดย สปสช.จะทำหน้าที่ในการบริหารระบบเท่านั้น แต่จะใช้เงินที่มีการจัดสรรเดิมให้ อปท.ซึ่งปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดสรรให้แห่งละไม่เกินร้อยละ 40 ซึ่งข้าราชการท้องถิ่นและครอบครัวสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสปสช.จะคิดคำนวนตามสิทธิเดิม หากคิดเป็นรายหัวจะอยู่ที่ 12,000 บาทต่อหัวต่อปี ซึ่งหากคำนวณ 8 แสนคน ก็จะอยู่ประมาณ 9 พันล้านบาท ในการบริหารกองทุนแต่ละปี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะเสนอให้กับ รมว.สาธารณสุข พิจารณาก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น จะประกอบด้วย สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ.76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล ไม่รวม กทม.และเมืองพัทยา จำนวน 5,693 แห่ง มีพนักงานข้าราชการรวม 220,000 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 170,000 คน ลูกจ้างประจำ 20,000 คน พนักงานจ้าง 12,000 คน ซึ่งหากรวมบุตร บิดา มารดา จะรวมทั้งหมดประมาณ 800,000 คน

สำหรับ มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้อำนาจเกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคล โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใดๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยให้สามารถใช้สิทธิการรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ซึ่งบุคคลที่สามารถใช้สิทธินั้น ประกอบด้วย ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ บิดามารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาล โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง