ซื้อแบบรู้หน้าขายแบบรู้ใจ เจาะตลาดเกษตรอินทรีย์ด้วย CSA

“อิสราแอลเมืองที่รวยน้ำมันต้องจ้างคนไทยไปปรับปรุงพื้นดินที่เป็นทรายให้สามารถทำการเพาะปลูกด้วยค่าจ้างต่อหัวคนละ 2-3 แสนบาทต่อเดือน ในขณะที่เมืองไทยมีดินที่อุดมสมบูรณ์ และไม่ต้องจ้างใคร แต่เรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่การเกษตร”

ศ.ระพี สาคริก ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ได้พูดถึงเรื่องเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยทำนองว่า หายไปไหนหมด ทั้งๆที่เกษตรอินทรีย์ทำกันมาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย

แต่ทว่าในช่วงยุคหลังหรือที่เรียกว่ายุคเกษตรเคมี การรณรงค์ให้เกษตรกรกลับสู่เกษตรอินทรีย์ดูท่าจะลำบาก เนื่องจากตลาดบ้านเราไม่ตอบโจทย์ ประชาชนยังคงเน้นบริโภคพืชผักผลไม้ที่ดูสวยงาม และส่งผลให้เกษตรกลุ่มนี้เริ่มท้อใจจนต้องกลับไปพึ่งพาสารเคมีเช่นเดิม

ในงานเวทีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง (NEW SPIRIT) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เครือข่ายตลาดสีเขียว School for wellbeing และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มีการพูดคุยถึงเรื่องเกษตรแบ่งปันพลังธุรกิจใหม่เปลี่ยนแปลงโลก

“ดิสทัต โรจนาลักษณ์” หนุ่มใหญ่ผู้บุกเบิกระบบ CSA ในเมืองไทย เริ่มอธิบายถึงคำนิยามของ “เกษตรที่ชุมชนให้การสนับสนุน” หรือที่เรียกกันว่า Community Supported Agriculture หรือจำสั้นๆว่า CSA ให้ฟังว่า เกษตรในลักษณะนี้เป็นรูปแบบการพบกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีแนวคิดเดียวกัน และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของทั้งตัวเกษตรกรที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ และผู้ที่อยากบริโภคผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ โดยทั้งสองฝ่ายต่างเต็มใจและตกลงกันที่จะยอมรับความเสี่ยงของผลผลิตที่ไม่แน่นอนในการทำเกษตรอินทรีย์

การใช้โมเดลนี้ไม่ได้เพียงเพื่อจะให้ผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้มาเจอกันเฉยๆเท่านั้น แต่ยังจะช่วยทำให้ช่องว่างที่ห่างกันของผู้ผลิตกับผู้บริโภคได้กลับมาสานต่อความสัมพันธ์

ในประเทศที่เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า สิ่งที่เขาพยายามทำคือจะต้องเข้าไปเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้ได้

ดิสทัต อธิบายให้ฟังถึงความโดดเด่นของระบบ CSA คือ ผูกพันธ์ฉันท์เพื่อน เพราะเกษตรกรจะสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เช่น การส่งจดหมายข่าวบอกเล่าความคืบหน้าในการผลิต หรือแบ่งปันปัญหาที่ประสบอยู่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ รวมทั้งการนำโมเดลนี้มาใช้จะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปร่วมรับความเสี่ยงกับเกษตรกร โดยมีการทำข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินล่วงหน้าตลอดทั้งปี หรืออาจจะทุก 3-6 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชผักอินทรีย์จะมีรายได้

ขณะเดียวกันอดีตเภสัชกรผู้ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการสร้างชุมชนสีเขียว จังหวัดจันทบุรี เจ้าของ หจก.บ้านไร่จามจุรี “ไพบูลย์ สลักฤทัย” มาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดจันทบุรีว่า แรกเริ่มเดิมทีเป็นเภสัชกรและเห็นคนไทยจำนวนมากต้องสูญเสียเงินไปกับค่ายาและพบสาเหตุปัญหาสุขภาพของคนไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งเกิดมาจากพิษภัยของสารเคมีที่สะสมอยู่ในอาหาร

เขาจึงเริ่มหันเหตัวเองหลังจากที่ได้สั่งสมความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มาพอสมควร ด้วยความมุ่งมั่นว่า จะมาช่วยชาวบ้านสร้างเครือข่ายอาหารที่ยั่งยืน เนื่องจากในจังหวัดจันทบุรี 98% เป็นเกษตรแบบเคมี ส่วนเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่บางส่วนก็ไม่มีตลาดให้ค้าขาย

“ช่วงที่มาทำแรกๆ ก็ต้องพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าตั้งใจที่จะมาทำจริงๆ หาแนวทางรูปแบบต่างๆในการทำระบบสมาชิกตลาดนัดสีเขียว กระจายสินค้า ซึ่งก็สอดคล้องกับโมเดล CSA”เจ้าของ หจก.บ้านไร่จามจุรี เล่า และว่า ทุกครั้งที่เพื่อนจากกรุงเทพมาเยี่ยมเขาพูดว่า “มึงจะอยู่ได้ถึง 3 เดือนหรอ แรกๆยอมรับว่าการที่คนเมืองเคยทำงานแบบผู้บริหาร ลงมาเดินในฟาร์มโล่งๆ ไม่รู้จักคนในชุมชนก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่ผมตกผลึกแล้วว่าอยากทำตามความฝัน อยากเห็นคนมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นจึงต้องเริ่มลงมือทำทันที”

แม้ช่วงลงมือทำแรกๆ จะเจออุปสรรคมากมาย อาทิ ต้องออกแบบแปลงเกษตรเอง ขุดดินเอง แต่ผ่านไปกว่า 3 เดือน ทุกอย่างก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีการเริ่มคุยกับชาวบ้าน

เขาเล่าต่อว่า ตอนนี้เป็นนักวิชาการอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ก็ยังมีคำมาถามว่าทำไปเพื่ออะไร ได้แต่ตอบไปว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นความฝัน บางคนก็ว่าทำไปก็ขาดทุนเพราะไม่มีตลาด แพง คนไม่ซื้อ จึงตั้งคำถามกลับไปว่า

“รายได้อะไรคือความสุข หากหมายถึงเงิน เงินนั้นได้มาจากการเอาเปรียบคนอื่นแล้วยังมีความสุขไหม เงินนั้นได้มาจากการคอร์รัปชั่นมีความสุขไหม เราเข้าใจว่าการมีรายได้มากๆคือความสุข แต่เงินกินไม่ได้ ความสุขคือการได้ทำตามความฝันของเรา

ความฝันผมคือการได้อยู่กับธรรมชาติและการมีสุขภาพที่ดีได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการนำโมเดล CSA มาใช้ ไม่ใช่การขายเพื่อให้ได้ยอดขายเยอะๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำแล้วมีความสุขหรือไม่ ดังนั้นเวลามองเรื่องเกษตรอินทรีย์ต้องมองหลายมิติรวมกันทั้งในด้าน ปรัชญาชีวิต ธรรมะ อย่ามุ่งหวังแค่เรื่องผลผลิตต้องได้ ยอดขายต้องเป็นล้าน แต่ให้มองความสุขเป็นเป้าหมาย อย่าหลอกตัวเอง”

การมุ่งหวังให้มีรายได้มากๆในกรุงเทพฯ แลกมาด้วยอะไรบ้าง เจอทั้งความเครียด การแข่งขัน สุดท้ายจบด้วยค่าใช้จ่ายสุขภาพราคาแพง เขาเห็นว่า คนบางทีมองอะไรเพียงด้านเดียว ฉะนั้นวิธีคิดในวันนี้ต้องเปลี่ยน โดยเราควรตอบตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายของเราคืออะไรและจงก้าวไปข้างหน้า

ตลอดกว่า 1 ปีที่ไพบูลย์เข้ามาคลุกคลีทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีพื้นฐานเกษตรกรมาก่อน เพียงมีความตั้งใจอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เขาไม่ได้คิดจะไปขายใคร แต่เมื่อลงมือทำก่อนแล้วจึงได้เห็นช่องทางเครือข่าย

สุดท้ายอดีตเภสัชกรผู้เดินตามฝัน หวังเหลือเกินที่จะได้เห็นคนรุ่นใหม่ๆ กลับมาทำเกษตรอินทรีย์หรือบริโภคพืชผักที่เพาะปลูกแบบไร้สารพิษบ้าง
“เรามีข้อดีข้อเดียวคือเรามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อิสราแอลเมืองที่รวยน้ำมันต้องจ้างคนไทยไปปรับปรุงพื้นดินที่เป็นทรายให้สามารถทำการเพาะปลูกด้วยค่าจ้างต่อหัวคนละ 2-3 แสนบาทต่อเดือน ในขณะที่เมืองไทยมีดินที่อุดมสมบูรณ์ และไม่ต้องจ้างใคร แต่เรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่การเกษตร”

เจ้าของ หจก.บ้านไร่จามจุรี ยังยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดไทยอย่างประเทศลาว ให้ฟังด้วยว่า ประเทศลาวเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ 80% โดยรัฐบาลลาวบอกเลยว่า ต้องทำให้ดีที่สุดด้วยการทุ่มงบปัจจัยการผลิต หาตลาดให้กลุ่มเกษตรกร เพราะเขามีตัวอย่างจากประเทศไทยแล้วเขาจะไม่ทำเหมือนประเทศไทย

เรียกว่า ลาวดูการพัฒนาของไทย แต่จะไม่ทำตามไทยเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร

สิ่งที่ประเทศลาวพยายามทำคือให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารปลอดภัยเพราะอาหารจะสะท้อนไปถึงเรื่องสุขภาพ โดยที่ประเทศไทยก็พยายามเช่นกัน แต่พยายามอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราควรต้องลงมือทำด้วย

ที่มา : นางสาวมณนิสา แท่งทอง
Thaireform มี.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

Un ชี้ เกษตรอินทรีย์คือทางออก!

admin 6 เมษายน 2019

แม้ว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ พยายามจะผลักดันให้มีการใช้สารเคมี […]

เดินหน้ายุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์

admin 5 เมษายน 2019

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการยุท […]

แม่โจ้โพลล์เผย 80% รัฐเมิน’เกษตรอินทรีย์’

admin 4 เมษายน 2019

ผศ.ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยาก […]