ตำลึง ในตำรับยาล้านนา

 

เมื่อวันหยุดยาวฉลองวันรัฐธรรมนูญเพิ่งได้โอกาสทำหน้าที่คนสวน เพราะความขยันน้อย ไม่อยากกวาดใบไม้แห้งร่วงหล่นก็เลยตัดแต่งต้นไม้รอบบ้านรับฤดูแล้งให้เหลือใบที่จะแห้งน้อยลง (ฮา) เมื่อช่วงฝนที่ผ่านมาปล่อยให้แตกกิ่งก้านมาก แล้วผักสวนครัว ตำลึง (Coccinia grandis (L.) Voigt) ที่ปล่อยไว้เป็นไม้เลื้อยขึ้นบนต้นไม้คลุมรก ตำลึงที่ปล่อยไว้จำใจตัดเถาที่มีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางราว 3 – 4 ซ.ม. ใหญ่พอควร ตำลึงเป็นพืชที่มีมือจับยึดเกาะเลื้อยไปทั่ว ใบมีรูปทรงที่เราคุ้นนเคย รูป 3-5 แฉก โคนใบเว้ารูปหัวใจ แผ่นใบบาง เรียบ สีเขียว ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว ผลสุกสีแดง

การใช้ประโยชน์มีไปทั่วโลก ในเอเชียก็พบภูมิปัญญาได้ใน กัมพูชา ไทย เวียดนาม จีน ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย ที่มีการใช้ประโยชน์ทั้ง ผล ใบ ราก และลำต้น มีการศึกษาสมัยใหม่พบสารประกอบในส่วนผลได้แก่ เอมิสอัสซอเรน(amysrn acetate), ลูพีออล (lupeol), คูเคอบิตาซินบี (cucurbitacin B), ทาราซีโรน (taraxerone), ทาราซีรอล (taraxerol), แคโรทีนอยด์ (carotenoids), ไลโคพีน (lycopene), คริบโตแซนทีน(cryptoxanten), ไซโลกลูแอน (xylogluan), ซิโตสเตียรอล (sitosterol), และ ซิกมา-7-เอน-3-โอน (sigma-7-en-3-one). Bnm ตำลึงยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย และการลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้สารสกัดด้วย เอทิลอีเทอร์ พบว่าเมื่อทดลองให้หนูตัวผู้ขนาดสูงสุดถึงขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. พบว่าไม่เกิดความเป็นพิษ แสดงว่าตำลึงมีความปลอดภัยสูง

มีการใช้ทางการแพทย์พื้นบ้านของประเทศต่าง ๆ เช่น ในกัมพูชาใช้เปลือกลำต้น เป็นยาระบายที่ดี ลำต้นและใบ ใช้แก้คลายปวดเกร็งท้อง และใช้แก้ไอ น้ำคั้นสด ใช้แก้น้ำตาลในเลือดสูง ในประเทศจีนใช้ใบอ่อน ลดน้ำตาลในเลือด ในลาว ใช้ยาชงตำลึง ลดความร้อนในร่างกาย ทาแก้แพ้ ผื่นคัน และชาวจีนก็เหมือนคนทั่วโลกนิยมกินใบอ่อนเป็นอาหารด้วย ในเมียนมาร์หรือพม่า ใช้ตำลึงรักษาเบาหวาน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ตับทำงานผิดปกติ ไอ หวัด และอื่น ๆ และในตำรายาแผนไทยกล่าวว่า ราก รสเย็น แก้ตาขึ้นฝ้า ดับพิษทั้งปวง แก้ไข้ แก้อาเจียน ต้มน้ำกินเป็นยาระบาย ส่วนหัว รสเย็น ดับพิษทั้งปวง ใบ รสเย็น เป็นยาดับพิษร้อนจากหมามุ่ย หรือสารพิษที่ทำให้แสบร้อน คัน ส่วนดอก รสเย็น แก้คัน เมล็ด รสเย็นเมา ตำผสมน้ำมะพร้าวแก้หิด น้ำยางต้นใบราก รสเย็น แก้เบาหวาน

สำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพทางเหนือของไทย เรียกตำลึงว่า ผักแคบ ในตำรายาล้านนามีการกล่าวถึงผักแคบเข้ายามหาปิ๊ดชะคาดหลวง ซึ่งมีสรรพคุณแก้ปวดแน่นแผ่นหลัง โดยนำส่วนเครือหรือลำต้นของตำลึง เครือบอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย ทั้งสามชนิด เอายาวเท่าข้อนิ้วกลาง แล้วตัดเป็นสามท่อน ต้มกิน และในตำรับยาแดงพม่า ซึ่งมีสรรพคุณแก้เลือดขึ้น ลมขึ้น มีการใช้ใบตำลึงเป็นกระสายยาในตำรับนี้นำมาใช้เสริม โดยบดใบตำลึงผสมในยาแดงพม่า กรณีที่คนป่วยเลือดขึ้น ลมขึ้น มีเลือดออกจมูก และออกทวาร

ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านมีการใช้ ยาข่มฝีสานด้าน วิธีการรักษา ใช้ยาร้อนประคบก่อน เพื่อหัวฝีตั้งชัน ก่อนจะทำการเช็ดแหก โดยใช้ใบมะโอ้งนก ขมิ้นอ้อย และ ใบมะเฟือง ตำผสมกันประคบฝี แล้วสังเกตอาการ หากว่าปรากฏอาการร้อนเกินไปในบริเวณรักษา ก็จะนำยาประคบดังกล่าวออก ใช้ยาเย็นประคบแทน จะใช้รากตำลึง หรือใช้ป้ง (ส่วนที่นูนขึ้นมาตามเถาตำลึง คล้ายปุ่มปม) หัวถั่วปู หัวกล้วยดั้น ข้าวจ้าวสารตำละเอียด ผสมน้ำข้าวมวกใส่พอควร แล้วเอาประคบ หรือพอก หรือติดไว้เป็นยาเย็น นอกจากนั้น ผักแคบ ยังเข้า ยาจำเริญผิวงาม เป็นยาจำเริญกินดีมีผิวพรรณวรรณเนื้อตนงาม และเป็นอาหารเลี้ยงธาตุสำหรับช่วงอายุและเวลาต่างกัน

นอกจากนี้ หากร่างกาย มีอาการ “ร้อนอกตกใจอยากน้ำนัก” (หิวน้ำ) ให้เอาผักเข้า (ฟักข้าว) ผักแคบ ผักสาบ รากฝ้าย รากลับมืน (ชุมเห็ดเทศ) ผากควาย (หญ้าปากควาย) รากกล้วยตีบ อ้อยดำ หัวทุน เงี่ยงปลาบึก ฝนใส่อีกกินยาดูไปก่อนหลายๆวัน ถ้าหากว่าเนื้อเย็นมันจะเสียบไป ให้ถอนออก ตำลึงยังเข้า ยาสันนิบาต (ชนิดที่ผู้ป่วย แก้เสื้อ แก้ผ้า) ร่วมกับยาเย็นอื่น ๆ อีกทั้งยาแก้ลูกขาว (ยาลูกกลอนสีขาว) ให้เอาป้งปอ (ป้งหมายถึงปุ่มปม บนส่วนของพืช) ป้งกอก ป้งส้มเห็ด หัวผักเข้า หัวผักแคบ หัวถั่วปู (พู) หัวมันแกวขาว ใบปิ๊ดเตาะ (พุงดอ) รางเย็น ชะเอมตัด รากคา อ้อยดำตากแห้ง ตำผงละเอียด เอาจันทร์ขาว-แดง เป็นน้ำ ปั้นลูกขนาดพริกน้อยไว้ใช้เทอะ ส่วนยาที่ใช้รักษาฝี ใช้ ใบบัวลา ใบผักแคบ ใบผีเสื้อ ขิงแกง ตำเคี่ยวให้ข้น เอาใส่ฝี การใช้ตำลึงมักใช้คู่กับสมุนไพรฤทธิ์เย็นอื่น เช่น ผักเข้า หรือใบฟักข้าว ผักสาบ

ตำลึงในภูมิปัญญาล้านนาพบในตำรายาล้านนาอย่างเด่นชัดว่ามีสรรพคุณ เป็นยารสเย็น ดับพิษร้อน แก้พิษฝีต่างๆ มีการใช้เป็นทั้งภายในและภายนอก เช่น ใช้น้ำสะอาดเทผ่านเถาตำลึง นำมาใช้ล้างหน้าตา เมื่อเวลาตาแดงจากฝุ่นเข้า ใช้เป็นอาหารนำใบอ่อนมาต้มเป็นแกงจืด หรือลวกจิ้มน้ำพริกได้ แต่มีข้อสังเกตว่าการกินใบตำลึงในฤดูฝน พบว่าการกินใบตำลึงปริมาณมากอาจทำให้ท้องเสียได้โดยเฉพาะถ้าเป็นตำลึงตัวผู้หรือตำลึงที่มีใบหยักเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบหลาย ๆ หยัก จะมีฤทธิ์ทำให้ท้องเสียมากกว่าใบตำลึงตัวเมีย จึงควรระมัดระวัง แต่ประสบการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นบอกว่ากินในฤดูหนาวตอนนี้อาการท้องเสียจะลดน้อยลง

อากาศเย็นหนาวตอนนี้ การกินต้มจืดตำลึงเติมพริกไทยมากหน่อย จะช่วยให้ลดฤทธิ์เย็นเพิ่มรสร้อนรับลมหนาวได้ดี.