ต่างชาติไล่ซื้อ สูตรสมุนไพรตีตรา‘ยาหม้อ’นับแสนก่อนสูญพันธุ์

ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดเผย ็สยามธุรกิจิว่า ปัจจุบันชาวต่างชาติให้ความสนใจสมุนไพรไทยอย่างมาก และยื่นข้อเสนอขอซื้องานวิจัยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าขายในตลาด ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยสารสกัดจากลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอย่างมหัศจรรย์ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จากสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่ดีและมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยับยั้งความเป็นพิษของสารก่อมะเร็งทางเดินอาหาร ป้องกันขบวนการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดการเสื่อมสลายของเซลล์กระดูกอ่อนในข้อ เป็นต้น “ก่อนหน้านี้มีชาวจีนและสิงคโปร์ติดต่อขอซื้อสารสกัดจากลำไยที่เราคิดค้นได้เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง และครีมชนิดทาถูนวด โดยเสนอซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 แสนบาท แต่เราไม่ได้ขายให้ เพราะเป็นงานวิจัยที่เราทำงานร่วมกับ สกว. ประกอบกับกลัวว่าเมื่อเขาได้ไปแล้วจะเอาไปจดสิทธิบัตรเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง เหมือนสมุนไพรหลายชนิดที่ตกสมบัติเป็นของคนต่างชาติ” ศ.ดร.อุษณีย์ กล่าว ศ.ดร.อุษณีย์ ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการติดต่อขอซื้อสารสกัดเพื่อนำไปแปรรูปแล้ว ยังมีชาวออสเตรเลียเสนอซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป คือสมุนไพรที่ผ่านการวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว พร้อมจำหน่ายในตลาดได้ทันที โดยทำสัญญาเสนอซื้อเป็นระยะเวลา 10 ปี ถ้าพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าว เราสามารถนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกลับมาทำตลาดได้เอง หรือจะต่อสัญญาอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหา เพราะสัญญาระบุชัดเจนว่าลิขสิทธิยังเป็นของเรา

สำหรับราคาก็หลักล้านบาทขึ้นไป “มีสมุนไพรหลายชนิดที่คนไทยไม่เห็นค่า แต่ต่างชาติให้ความสนใจ เช่นใบบัวบก นำไปสกัดเป็นเครื่องดื่ม รวมถึงข้าวกล้องที่อุดมด้วยคุณประโยชน์ สามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้เช่นเดียวกัน” ศ.ดร.อุษณีย์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าต่างชาติไล่ซื้อใบลานที่บรรจุตำรับยาแผนโบราณจากชาวบ้านแบบชั่งเป็นกิโลขาย ซึ่ง ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่าการค้าดังกล่าวมีมานานแล้วกว่า 20 ปี โดยลูกหลานอาจขายไปเพราะไม่เห็นคุณค่า ซึ่งสมัยก่อนสูตรยาโบราณจะถูกคัดลอกลงในใบลานแล้วเก็บไว้ในวัด รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหาด่วน โดยขึ้นทะเบียนเป็นสูตรยาประจำชาติ เพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติหยิบเอาไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ด้านนายกฤตธัช โชติชนะเดชา ปฏิบัติการหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือ เปิดเผย ็สยามธุรกิจิ ว่า ขณะนี้มีสูตรยาโบราณหรือภูมิปัญญการแพทย์แผนไทยกระจายอยู่กับชาวบ้านทั่วประเทศ ซึ่งบางคนอาจไม่ทราบถึงคุณค่ายกให้คนอื่นบ้าง ไม่ได้ดูแลรักษาจนเกิดความเสียหายบ้าง เราก็พยายามประกาศผ่านสื่อว่า ใครมีตำราดังกล่าวอยู่ไม่รู้ว่าจะเก็บรักษาอย่างไร ก็แจ้งมาที่เรา เราจะได้แจ้งไปยังหน่วยงานเช่นหอสมุดแห่งชาติให้เขาช่วยดูแลรักษาให้ ในขณะเดียวกันก็จะได้ทราบว่าใครเป็นเจ้าของสูตรยาดังกล่าว เป็นการคุ้มครองสิทธิเบื้องต้น ตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญการแพทย์แผนไทย

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายลูกให้คุ้มครองสูตรยาที่เป็นลายลักษณ์อักษรห้ามใครนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้รับอนุญาต จากปัจจุบันที่คุ้มครองเฉพาะการจดสิทธิบัตรสินค้าเท่านั้น “ปัจจุบันมีคนจากทั่วประเทศแจ้งตำรายาโบราณเข้ามาที่เราประมาณ 1 แสนรายการ อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้แจ้งอีกจำนวนมาก รวมๆแล้วเราน่าจะมีตำรายาแผนโบราณในเมืองไทยที่ยังกระจัดกระจายอยู่อีกกว่า 5 แสนรายการ ก็อยากประชาสัมพันธ์ว่าใครที่ยังไม่แจ้งก็ควรจะแจ้งเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และบันทึกไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป แต่ถ้าไม่จดแจ้ง อาจถูกคนอื่นฉกฉวยสูตรไปต่อยอดเป็นตัวยาแล้วจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของได้โดยไม่ผิดกฎหมาย” นายกฤตธัช กล่าว ด้านแหล่งข่าวในสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สกว.ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยกับนักวิชาการหลายรูปแบบ ซึ่งหากนักวิจัยต้องการขายงานวิจัยเราก็มีฝ่ายบิสสิเนสแพลนติดต่อกับผู้ที่ต้องการซื้อ แต่บางกรณีเป็นงานวิจัยที่บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนร่วม เช่นงานวิจัยผลิตภัณฑ์ทาถูนวด ็ลองกานอยด์ิ ที่ผลิตจากลำไย โดยบริษัท พรีม่า เฮิร์บ (ประเทศไทย) ร่วมลงทุนก็เป็นลิขสิทธิของบริษัทนั้น ไม่สามารถขายให้กับคนอื่นได้ แหล่งข่าวอีกรายเปิดเผยว่า มีงานวิจัยไทยจำนวนมากถูกเก็บใส่ลิ้นชักเหมือนไม่มีคุณค่า ต่างกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศนำเสนอขายงานวิจัยผ่านอินเตอร์เน็ตกันแล้ว ใครต้องการสามารถติดต่อซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย ที่มา : สยามธุรกิจออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง