ต้นกุง ไม้พื้นเมืองสารพัดประโยขน์

ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมการจัดการแหล่งทรัพยากรนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และยังไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าปราศจากสำนึกและความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะการหวังพึ่งคนนอกหรือหน่วยงานต่างๆจากภายนอกเพียงอย่างเดียวนั้น จะช่วยในการทำงานในระยะเริ่มต้น แต่การทำงานอย่างต่อเนื่องจนบรรลุผลนั้น จำเป็นต้องอาศัยพลังของคนในชุมชนจึงจะสามารถรักษาและพัฒนาแหล่งทรัพยากรไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ความรู้ที่นำมาเสนอนี้ ได้จากบทเรียนและการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์และการจัดการความรู้จากผู้นำชุมชนและปราชญ์ผู้รู้ในพื้นที่จำนวนหลายครั้ง จนสามารถประมวลความรู้และเทคนิคการขยายพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องการขยายพันธุ์พืชพื้นเมืองในป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ หรือแม้ที่ว่างในชุมชน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูและส่งเสริมแหล่งทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนให้ยั่งยืนได้ และวันนี้ขอแนะนำไม้พื้นเมืองในภาคอีสาน ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีในการนำใบมาใช้ห่อข้าวของ ใช้มุงหลังคาและฝากั้นห้อง โดยทั่วไปเรียกกันว่าต้นพลวง หรือคนท้องถิ่นเรียกกันว่าต้นกุง

ชื่อท้องถิ่น กุง
ชื่อสามัญ พลวง
ชื่ออื่น ๆ เกาะสะแต้ว สะเติ่ง คลง คลอง คลุ้ง ควง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus tuberculatus Roxb.
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น สูง 10 – 40 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวยคว่ำหรือพุ่มกลม ลำต้นตรง เปลือกหนาสีน้ำตาลปนเทาอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ใบรูปไข่กว้าง 15–28 เซนติเมตร ยาว 15–40 เซนติเมตร

ปลายใบสอบทู่ๆ โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบหนาเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ดอกช่อแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอก 5 กลีบ ผลแห้งแบบมีปีกทรงกรวย ส่วนที่ติดกับปีกพองโตเป็นพู 5 พู แล้วค่อยๆ สอบเรียวไปสู่ขั้วผล มีปีกยาว 2 ปีก กว้าง 2.5–3.5 เซนติเมตร ยาว 10–15 เซนติเมตร เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น

อายุการเก็บเกี่ยว
ใบ เมื่อเจริญเติบโตอายุประมาณ 6 – 8 ปี ขึ้นไป สามารถนำมาใช้ได้
ชัน เมื่อเจริญเติบโตเมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป จึงจะออกชันได้

การใช้ประโยชน์
ใบใช้ห่อสิ่งของ ห่อยาสูบ ใช้มุงหลังคา ฝากั้นห้อง ใช้เผาไฟแทรกน้ำปูนใสแก้บิดมูกเลือด น้ำมันและชันใช้ทาไม้ ยาเรือ ทำไต้ ทำเครื่องจักสาน

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ขั้นตอนการขยายพันธุ์
กุงเมื่อผลแก่เต็มที่ผลจะล่วงล่นลงมา แต่ผลของต้นกุงจะมีปีกสามารถล่นจากต้นและปลิวไปในระยะไกลได้ เมื่อเก็บรวบรวมผลกุง ให้ตัดปีกของผลต้นกุงออกให้เหลือเฉพาะผลที่เป็นลูกกลม ๆ สร้างกระบะเพาะชำขึ้นพร้อมเตรียม

วัสดุเพาะในบริเวณที่ร่มรำไร หว่านผลกุงในกระบะเพาะให้กระจายทั่วแปลงเพาะชำ ไม่ต้องฝังกลบ รดน้ำให้ชุ่ม 2 – 3 วันต่อครั้ง ประมาณ 30 – 40 วัน ผลกุงก็จะเริ่มแทงหน่อและราก ทำการย้ายต้นกล้าอ่อนเข้าถุงเพาะชำ บำรุงรักษารดน้ำให้สม่ำเสมอ เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตสูงประมาณ 30 เซนติเมตรก็สามารถนำไปปลูกได้

สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร

บทความที่เกี่ยวข้อง