ต้นทุนใช้สารเคมีพุ่ง 42% ชงตั้งองค์กรอิสระให้ความรู้ชาวนา

โครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน ส่งผลให้ชาวนาใช้สารเคมีในการผลิตข้าวมากขึ้น เพื่อหวังเพิ่มปริมาณการผลิต โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาต่อสุขภาพเเละสิ่งเเวดล้อม เเม้ปัจจุบันคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายยกเลิกโครงการดังกล่าว เเละมีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์มีมาตรการลดต้นทุนการผลิต เเต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลให้เกิดการลดใช้สารเคมีได้

นางอนัญญา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรว่า 2 ปีก่อนชาวนามีต้นทุนการผลิตข้าวเกี่ยวกับสารเคมีเพียง 20% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มสูงขึ้น 42% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายเกือบครึ่งหนึ่งเสียไปกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย “ชาวนาเกือบ 100 % ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ไม่รู้แม้กระทั่งแถบสีข้างผลิตภัณฑ์มีอันตรายมากแค่ไหน และแม้จะฉีดสารเคมีก็ไม่ตาย เพราะจ้างคนอื่นฉีดยาแทน” ผจก.มูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว และว่าทำให้เห็นภาวะจิตใจของชาวนาที่มองเพียงตัวเงิน โดยไม่สนใจความยั่งยืนของคนในชุมชนและ สิ่งแวดล้อม

นางอนัญญา จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ คือ 1.ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีนำเข้าสารเคมี ด้วยที่ผ่านมามีการปล่อยนำเข้าอย่างเสรี ไม่มีการจัดเก็บภาษีเลย โดยปล่อยให้ภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ฉะนั้นจึงต้องสร้างโครงสร้างทางภาษีขึ้น

2.จัดตั้งองค์กรอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐหรือเอกชน คล้ายคลึงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวนาเรื่องการทำเกษตรกรรมไร้สารเคมีหรืออันตรายจากการใช้สารเคมี โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาษีของรัฐ ซึ่งมองว่าข้อเสนอนี้ทำได้จริงมากที่สุด

3.สนับสนุนการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพ ให้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์และมีนัยยะสำคัญ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา เพื่อมุ่งหวังลดการใช้สารเคมีมากที่สุด

4.หยุดโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ เช่นเดียวกับบุหรี่และสุรา

“ถ้าไม่เกิดการระบาดของโรค ชาวนาก็ไม่มีหนี้สินเพิ่ม แต่เมื่อใดเกิดการระบาดของโรค ชาวนาก็จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาทันที และหากไม่มีเงินชดใช้ก็จะถูกยึดที่นา ทำให้ไม่เกิดความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้นชาวนาต้องได้รับการเยียวยาชนิดถึงราก โดยทำอย่าไรให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิด” ผจก.มูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว

ทั้งนี้ นางอนัญญา กล่าวด้วยว่า ชาวนาทั่วประเทศจะมีการรวมตัวตั้งเป็น “เครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะชาวนา’ เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป .

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 28 ก.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

เผยสารเคมีตัวการทำต้นทุนนาข้าวสูง

admin 4 เมษายน 2019

เครือข่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร เครือ […]