นักวิจัยจวกรัฐหละหลวม ปล่อยพืช GMOs กระจายสู่แหล่งผลิตอาหาร

เมื่อเร็วๆนี้ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ผอ.ห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์พืชจีเอ็มภัยต่อเสถียรภาพ-ความมั่นคงด้านอาหาร ภายในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ปี 2556 จัดโดยแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับมูลนิธิชีววิถีว่า เป็นเหมือนภัยคุกคามเงียบเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร พร้อมยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่มีการหลุดรอดและปะปนของพืชจีเอ็มโอ เมื่อปี 2544 หรือกรณีจีนพยายามส่งพืชผลทางการเกษตรไปทั่วโลก แต่เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอจึงระงับการนำเข้าสินค้าทันที “3 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการส่งข้าวสาลีไปในญี่ปุ่น แต่เมื่อตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนข้าวสาลีจีเอ็มโอด้วย ทำให้ญี่ปุ่นและประเทศอื่นในภูมิภาคต่างจับตาเป็นพิเศษ”

นักวิชาการจุฬาฯ กล่าวถึงรายงานการสำรวจและตรวจติดตามการหลุดรอดและปะปนของพืชจีเอ็มโอในประเทศ ปี 2555-56 ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างครอบคลุม 36 จังหวัด รวม 367 ตัวอย่าง แบ่งเป็นมะละกอ 96 ตัวอย่าง ข้าวโพด 167 ตัวอย่าง ข้าว 95 ตัวอย่าง ฝ้าย 2 ตัวอย่าง พบว่า สถานการณ์การหลุดรอดและปะปนที่ “น่าห่วง” มีพืช 2 ชนิด ได้แก่ มะละกอจีเอ็มโอ พบมากถึง 16 ตัวอย่าง (16.66%) และข้าวโพดจีเอ็มโอ 14 ตัวอย่าง (8.38%)

รายงานการสำรวจครั้งนี้ พบมะละกอจีเอ็มโอกระจายในครัวเรือนหลายจังหวัด ได้แก่ จ.นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และยังพบการกระจายตัวดังกล่าวในพื้นที่เดิมแถบกาญจนบุรีและเชียงใหม่ ส่วนข้าวโพดจีเอ็มโอนั้นพบการกระจายตัวในพื้นที่ห่างจากบริษัทธุรกิจส่งออกข้าวโพดข้ามชาติเพียง 300 เมตร ในจ.ตรัง ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และปริมณฑล เป็นต้น

สำหรับการพบหลุดรอดและปะปนของพืชจีเอ็มโออย่างต่อเนื่องนั้น ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงและการขยายตัวของปัญหาที่สื่อถึงความหละหลวมในการดูแลแหล่งอาหาร อีกทั้งกฎหมายในประเทศไม่มีความพร้อมที่จะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อย หากอนาคตไทยยังพบการปนเปื้อนดังกล่าวอีก ตลาดต่างชาติจะปฏิเสธสินค้าจากไทยได้

ที่มา : ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน 16 มิ.ย.

บทความที่เกี่ยวข้อง