นักวิชาการหวั่น “ขิงข่า” สูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นางสุญาณี เวสสบุตร รองผู้อำนวยการองค์การพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงว่า ปี 2558 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ขิง-ข่า โลก ครั้งที่ 7 คาดว่าจะจัดที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยเวทีนี้จะรวบรวมงานวิชาการ งานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนิทรรศการพืชตระกูลขิงและข่าทั้งในประเทศไทย และจากประเทศเพื่อนบ้านมาแสดง และว่า พืชตระกูลขิงข่าส่วนใหญ่จะมีในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้เท่านั้น สำหรับประเทศไทยมีพืชตระกูลขิงข่าพื้นเมืองอยู่มากกว่า 300 ชนิด จากทั้งหมด 26 สกุล หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของพืชตระกูลนี้ที่มีอยู่ในโลก

ด้านนายปิยะเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปลูกบำรุง อ.ส.พ. กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกของพืช ตระกูล วงศ์ และอันดับขิงข่า ขณะนี้นักวิชาการค้นพบประมาณ 300 ชนิดเท่านั้น แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีมากกว่าที่ค้นพบแน่นอน “พืชตระกูลนี้ถือว่ามีคุณค่ามหาศาลในด้านเป็นอาหาร การพัฒนาเป็นยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขณะนี้มีการนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้ในสปา หรือสถานเสริมความงามต่างๆ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องไม่สบายใจเกี่ยวกับพืชชนิดนี้อยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การลดปริมาณลงในป่าธรรมชาติจากการแปลงสภาพป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกยางพารา ทำให้ขิงข่าพื้นเมืองหายไปจำนวนมาก เข้าใจว่าบางชนิดหายไปโดยที่เรายังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างไร ซึ่งน่าเสียดายมาก 2.การเข้ามาของนักวิชาการต่างชาติและนำออกไปโดยไม่รู้ เพราะยากแก่การตรวจสอบว่าขิงข่าที่นำออกไปมาจากพื้นที่ใด ซึ่งป้องกันเรื่องนี้ยากมาก ดังนั้น ในการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้ด้วย” นายปิยะเกษตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคมนี้ อ.ส.พ.จะจัดงานสวนพฤกษศาสตร์ แฟร์ ครั้งที่ 3 ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นการรวมพรรณไม้ทุกชนิดในประเทศ และพรรณไม้หายากนานาชนิด รวมทั้งกิจกรรมและนิทรรศการเกี่ยวกับต้นไม้และชมหิ่งห้อยยักษ์ ที่ อ.ส.พ.เพาะเลี้ยงไว้ที่เดียวในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง