บุนนาค นากบุด และบุนนาคน้ำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมุนไพร 3 ชนิดนี้จะเปรียบเปรยเรียกกันว่า 3 มิตรก็น่าจะได้ แต่ในทางวิชาการนับว่าลึกซึ้งกว่านั้นเพราะอยู่สายสัมพันธ์ใกล้ชิดกันที่เรียกว่า พืชในสกุลเดียวกัน คืออยู่ในสกุลเดียวกับบุนนาค หรือสกุล Mesua  ซึ่งมีรายงานพบในประเทศไทย 3 ชนิดด้วยกัน คือ

บุนนาค Mesuaferrea L. ชื่อสามัญ Ceylon ironwood

นากบุด Mesua nervosa Planch. &Triana ชื่อสามัญ Chestnut ironwood

บุนนาคน้ำ Mesua ferruginea (Pierre) Kosterm.

คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับต้นบุนนาคมากกว่าต้นบุนนาคน้ำและต้นนากบุด เนื่องจากบุนนาค เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในยาไทยหลายตำรับ  บุนนาคเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม ใบอ่อนสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ จะออกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี ใบเป็นใบเดี่ยว ปลายใบเรียวแหลม ดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน ดอกเมื่อบานเต็มที่มีกลิ่นหอมเย็นไปได้ไกล ผลสด รูปไข่ แข็งมาก เมล็ดแบน แข็งมี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม ในธรรมชาติพบบุนนาคไดตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง

การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อนบุนนาคกินได้แบบผักจิ้ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ในตำรายาไทยใช้ส่วนดอกที่มีกลิ่นหอมเย็น รสขมเล็กน้อย เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ และขับลม แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย รักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย แก้กลิ่นสาบในร่างกาย

เมื่อใช้เป็นตำรับยาไทยนั้น นำเกสรบุนนาคเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้งห้า ได้แก่ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง  และเกสรทั้งเจ็ด ที่เพิ่มดอกจำปา และดอกกระดังงา และเกสรทั้งเก้า ที่เพิ่มดอกลำดวน และดอกลำเจียกด้วย ตำรับยาเกสรที่กล่าวไว้ จะมีสรรพคุณในกลุ่มเหล่านี้ คือ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์ แก้ร้อนในกระสับกระส่าย นอกจากนี้หากใช้บุนนาคอย่างเดียวก็มีการใช้เป็นเครื่องหอมเพราะกลิ่นหอมมาก ใช้แต่งกลิ่นต่าง ๆ  ใช้ในการเข้าเครื่องยา เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ดับกระหาย บำรุงโลหิต และยังบดให้เป็นผงผสมกับเนยเหลว เป็นยาพอกแก้ริดสีดวงทวาร  นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากดอกบุนนาคมีสาร  mesuol และ mesuone ที่มีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะ คือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค น้ำมันจากเมล็ดก็มีมีฤทธิ์เหมือนน้ำมันจากดอกด้วย

ในภูมิปัญญาสมุนไพรยังใช้น้ำมันจากเมล็ดรักษาโรคปวดตามข้อ และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง สำหรับใบซึ่งมีรสฝาดนำมาใช้รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด ใช้เป็นยาสุมหัวแก้ไข้หวัดได้โดยตำเป็นยาพอกผสมน้ำนมและน้ำมันมะพร้าว แก่นมีรสเฝื่อนใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน  รากมีรสเฝื่อนใช้ขับลมในลำไส้ เปลือกต้นมี รสฝาดร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาฟอกน้ำเหลือง เปลือกมียางมากแต่ก็เป็นยาฝาดสมานและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย นำเปลือกมาต้มรวมกับขิงกินเป็นยาขับเหงื่อได้ กระพี้มีรสเฝื่อนเล็กน้อย แก้เสมหะในคอ

ต้นบุนนาค มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงคโปร์  สำหรับในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น สารภีดอย (เชียงใหม่) ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ปะนาคอ ประนาคอ (ปัตตานี) ในเอกสารและสื่อต่าง ๆ มีชื่อท้องถิ่นเรียกว่านาคบุตร นากบุต รากบุค ด้วย ซึ่งแต่เดิมมีการจัดจำแนกว่า บุนนาคและนากบุด เป็นไม้ชนิดเดียวกัน ต่อมาในเอกสารของหอพรรณไม้ปี พ.ศ. 2557 ได้แยกต้นนากบุดออกเป็นอีกชนิดหนึ่งคือ นากบุด Mesua nervosa Planch. &Triana ชื่อสามัญ Chestnut ironwood

นากบุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของลำต้นตั้งแต่ 10 เมตรไปจนถึง 25 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นทรงพุ่มแน่นทึบคล้ายปิรามิด เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล เนื้อไม้ภายในมีสีขาวนวล มีความแข็งและเหนียวใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน แข็ง หนา และค่อนข้างกรอบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ดอกมีสีขาว ลักษณะคล้ายดอกบุนนาค ส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจตลอดทั้งวันเช่นกัน เมื่อดอกบานเต็มที่ก็จะร่วงโรยไปภายในวันเดียวกัน เมื่อต้นแก่ทุกส่วนของนากบุด ทั้ง เปลือก ดอก ผล ต้น ราก ใบ ล้วนมีคุณค่าทางสมุนไพรทั้งสิ้น และยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับด้วย เนื่องจากมีทรงพุ่มแน่นทึบและให้ดอกกลิ่นหอมสวยงาม จากความรู้ในท้องถิ่นได้กล่าวไว้ว่านาคบุดต่างจากบุนนาคตรงที่ใบมีความอ่อนมากกว่า จึงนิยมนำไปทำเป็นผัก กินเป็นอาหาร และนากบุดเป็นพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม้ที่อนุญาตให้ปลูกได้ในสวนป่า

สำหรับบุนนาคน้ำ เป็นพืชขนาดเล็กชอบขึ้นตามริมฝั่งน้ำพบได้ในแถบอันดามัน มีจำนวนประชากรน้อย ไม่ปรากฎรายละเอียดของพืชชนิดนี้มากนัก และไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์พืช 3 ชนิดมีชื่อคล้ายกันมีความน่าสนใจที่นำมาเรียนรู้ให้เกิดการใช้ประโยชนอย่างเต็มที่ต่อไป