บ้านหมอ พื้นที่เรียนรู้ไม่รู้จบ

หมอพื้นบ้านคนทุกคนต้องการพัฒนาบ้านของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้
“ผมเห็นว่าดีนะ เพราะว่า หนึ่ง แขกบ้านอื่นเมืองอื่นมาเขาก็จะได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สอง หมอบางคนที่ไม่รู้ต้นยาบางชนิดก็จะได้รู้ ถ้ามีต้นไม้ใบหญ้าในครอบครอง 20 ชนิดนี้ถือว่ามีพื้นฐานที่รู้จักยาสมุนไพรแล้ว และเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ไว้ด้วย

“ความเป็นหมอมันไม่ได้อยู่ไกลจากการกระทำของเรา การกระทำกับชื่อให้มันอยู่ด้วยกันน่ะดีแล้ว ไม่ใช่รู้แต่ว่าเป็นหมอ แล้วไหนล่ะการกระทำที่บอกว่าเป็นหมอ”

ทรงพล เดชพันธ์ หมอนวดและหมอสมุนไพร จ.สกลนคร ยืนยันถึงความสำคัญของการพัฒนาบ้านหมอให้เป็นแหล่งเรียนรู้

เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หมอพื้นบ้านมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการที่จะพัฒนาบ้านของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทางเครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สกลนคร จึงได้จัดกิจกรรม “ประกวดบ้านหมอ” ขึ้น และกำลังก้าวขึ้นเป็นตัวอย่างให้กับหมอต่างๆ ได้

เกณฑ์ในการประกวดบ้านหมอประกอบไปด้วย
หนึ่ง จะต้องมีพันธุ์ไม้สมุนไพรไม่น้อยกว่า 20 ชนิด
สอง จะต้องมียาแห้งเก็บไว้เป็นตัวอย่างในตู้ยาไม่น้อยกว่า 5 อย่าง เป็นตัวยาที่ต้องใช้ตามความชำนาญของหมอแต่ละคน
สาม จะต้องมีสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยซึ่งต้องดูแลรักษาความสะอาดให้เรียบร้อย

บางคนสงสัยว่า ทำไมจะต้องปลูกสมุนไพรที่บ้านหมอ…?
ผศ.พิเชษฐ เวชวิฐาน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ อธิบายว่า “ถ้าเราไปรวมกันปลูกไว้ที่ใดที่หนึ่ง การดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง ดังนั้นแทนที่จะปลูกในที่อนุรักษ์ก็ให้หมอพื้นบ้านเขานำมาปลูกในบ้าน โดยให้หาสมุนไพรที่ต้องใช้มาเพาะเอง เวลามีประชุมเครือข่ายก็นำมาแลกกัน พูดคุยกัน ซึ่งแต่ละคนจะรู้จักสมุนไพรแตกต่างกันไป หรือเรียกชื่อไม่เหมือนกัน การทำเช่นนี้จะทำให้หมอพื้นบ้านได้รู้จักต้นสมุนไพรแต่ละชนิดดีขึ้น มีแหล่งเพาะพันธุ์สมุนไพรในพื้นที่ของเขาเอง สมุนไพรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการปฐมพยาบาลก็จะหามาใช้ได้ง่าย นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดการเรียนรู้ภายในครอบครัวของหมอ ผู้ป่วยที่ไปรักษา และคนทั่วไปที่ผ่านไปผ่านมาก็จะได้เห็น”

แนวทางการทำงานหลักของเครือข่ายฯ เน้นไปที่ตัวหมอและบ้านหมอ อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้เกิดการส่งเสริมและใช้ภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน ย่อมขึ้นอยู่กับการพัฒนาบ้านหมออย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนจากหน่วยสาธารณสุข และการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจัยสามข้อนี้ทางเครือข่ายกำลังพัฒนาการทำงานร่วมกันในอนาคต

นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่เรียกขานกันในหมู่หมอพื้นบ้านจ.สกลนครว่า “คาราวานหมอพื้นบ้าน” เป็นงานที่มีโดดเด่นและได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550

คาราวานหมอพื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่ทำเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ต่อมาได้พยายามทำให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น มีการสัญจรไปลงพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วทั้งจังหวัดสกลนคร คาราวานหมอพื้นบ้านเปรียบเสมือนหน่วยบริการภูมิปัญญาเคลื่อนที่ ซึ่งออกไปให้การรักษาเยียวยาชาวบ้านที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ โดยไม่คิดค่าตอบแทน จะมีก็เพียงค่าบูชาครูแค่ไม่กี่บาท จากการจัดคาราวานหมอพื้นบ้านที่ผ่านมาทำให้พ่อหมอแม่หมอในเครือข่ายเกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และนอกจากจะได้รักษาผู้ป่วยแล้ว หมอพื้นบ้านแต่ละคนยังได้ประสบการณ์ในการรักษาโรคที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงได้รู้ได้เห็นว่าหมออื่นๆ มีวิธีการรักษาอย่างไร ใช้ตัวยาอะไร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ทางเครือข่ายฯ และผู้ประสานงาน ผศ.พิเชษฐ ได้ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ข้อ คือ
หนึ่ง เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายฯ ให้ชาวชุมชนรู้ว่าในเครือข่ายหมอพื้นบ้านของจังหวัดสกลนครมีหมอเก่งๆ ดีๆ
สอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มหมอพื้นบ้าน และหมอพื้นบ้านยังได้พบผู้ป่วยรายใหม่ๆ ทำให้ได้พัฒนาวิชาของตนเอง
สาม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสมุนไพรภายในกลุ่มหมอพื้นบ้าน
สี่ เพื่อให้เกิดการสืบทอดความรู้ระหว่างหมอรุ่นเก่ากับหมอรุ่นใหม่ ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากการไป “คาราวาน” ทุกครั้งจะนักศึกษาการแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 3 มาร่วมงานทุกครั้ง เป็นการเชื่อมโยงเด็กรุ่นใหม่กับพ่อหมอแม่หมอรุ่นเก่าได้อย่างดี ปัจจุบันมีนักศึกษา 3 คน ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนรู้กับหมอแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่ลึกซึ้ง

ทิศทางในอนาคตของเครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สกลนคร มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย 5 เรื่อง คือ
หนึ่ง บ้านหมอ จะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานได้
สอง ตัวหมอ ทั้งหมอเก่าและหมอใหม่ได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และมีกฎกติการ่วมกันในการปฏิบัติ
สาม เครือข่ายฯ สามารถทำงานร่วมกัน และทำให้คนในชุมชนและจังหวัดรู้จักว่าหมอดีอยู่ที่ไหน
สี่ ฐานข้อมูลทั้งภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านและข้อมูลสมุนไพร ต้องให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ทั้งในระบบออนไลน์และในชุมชน
ห้า พืชสมุนไพรต้องอยู่ใกล้ตัวหมอ และอยู่ในชุมชนของตนเอง.

บทความที่เกี่ยวข้อง