ปลูกสมุนไพรช่วยลดโลกร้อน (1)

วันนี้แอดมินขอโหนกระแสนิดนึง อยากคุยหลายเรื่อง อยากคุยเรื่องโลกร้อน และร้อนมาก  อยากคุยเรื่องการปลูกสมุนไพร อยากคุยเรื่อง BCG ….เอาอย่างงี้ล่ะกัน… เราจะคุยทุกเรื่องเลย

แอดมินเคยได้ยินเรื่องภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) เรื่องโลกร้อนขึ้นตั้งแต่เรียนมัธยม พอมีการรณรงค์สักพัก คนก็ลืม และตอนนี้ โลกคงจะวิกฤตมากที่สุดแล้ว ทุกประเทศไม่อาจเพิกเฉยต่อไปได้อีกแล้ว

หลายคนบอกว่า BCG เป็นกุญแจสำคัญรับมือภาวะโลกร้อน

เรามารู้จัก “BCG” กันก่อน…

BCG Economy หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ก็คือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม การผลิตทั้งหมดต้องลดหรือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และลดมลภาวะต่าง ๆ ด้วย

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่ช่วยต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง เป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” และรักษาโลกให้อยู่รอดปลอดภัย ยังช่วยกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นด้วย

 

หน่วยงานและบริษัทขานรับ BCG Economy โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่แอดมินยังสงสัยเล็กๆ ว่า บริษัทหรืออุตสาหกรรมจำนวนมากที่ยังใช้ทรัพยากรการผลิตและผลิตในรูปแบบเดิม ๆ ที่ปล่อยมลพิษ หรือก่อผลกระทบกับความหลายหลายทางชีวภาพ แต่มาปลูกต้นไม้ทดแทนจะช่วยโลกใบนี้ทันหรือไม่ ? ถ้าให้ดีกว่านี้น่าจะแก้ปัญหาการผลิตพร้อม ๆกับเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ส่วนเรา…จะชวนปลูกสมุนไพร
แล้วการปลูกสมุนไพรช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?  สงสัยใช่มั้ยคะ?
ไปค่ะ…แอดมินจะเล่าให้ฟัง
เอาจริงๆ ยิ่งปลูกสมุนไพรเยอะ ก็ยิ่งมีวัตถุดิบในตำรับยาสมุนไพรเยอะด้วย  ช่วยทั้งโลก ชุมชนและแต่ละคนด้วย
เวลาเราพูดถึงสมุนไพร เรามักจะนึกถึงพืชต้นเล็กๆ หรือขนาดกลางไม่ได้มีขนาดใหญ่อะไร
แต่สมุนไพรก็เหมือนกับพันธุ์ไม้อื่นๆ ค่ะ ที่มีความหลากหลาย มีทั้งต้นเล็ก ต้นขนาดกลางและต้นใหญ่
พูดถึงสมุนไพรที่เป็นต้นใหญ่และสูง เช่น ต้นกอกกัน  มะกอกเหลี่ยม  กะโดนน้ำ หรือที่เรารู้จักกันดี ก็คือ สะเดา
สมุนไพรหลายชนิดเรานำมาประกอบอาหารเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา และอีกส่วนหนึ่งเป็นสมุนไพรอยู่ในตำรับยา

ในสมัยก่อนเราไม่ได้ปลูกสมุนไพรแบบพืชเชิงเดี่ยว หมายถึงการปลูกพืชอย่างเดียวในพื้นที่จำนวนมาก
แล้วในสมัยก่อน เราหาสมุนไพรจากที่ไหนล่ะ? ก็หาสมุนไพรจาก “ป่า”
เรามีกรณีศึกษาอยากเล่าให้ฟังค่ะ …เป็นเรื่องของป่าภาคอีสานกับการฟื้นฟูและการอนุรักษ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทยมีเนื้อที่รวม 104.8 ล้านไร่ แต่มีป่าทั้งหมดประมาณ 15.7 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนป่าเพียงร้อยละ 14.98 เท่านั้น (การสำรวจของกรมป่าไม้ในปี 2564) ทั้ง ๆ ที่ในทางวิชาการพื้นที่ป่าควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมต่อคุณภาพชีวิต อยู่ที่ พื้นที่ป่า 30-40%

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงมาจากการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดสมดุลกับการพัฒนาด้านอื่นๆ และการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างมาก

นอกจากนี้การเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มุ่งเน้นพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ทำให้พืชหลายชนิดอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

วิถีชีวิตของคนอีสานโดยทั่วไปจะพึ่งพิงป่าธรรมชาติโดยเฉพาะด้านปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ป่าจึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อชีวิตของคนอีสาน

ภาคอีสานมีป่าแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ป่าสาธารณะ” หรือ “ป่าชุมชน” มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอีสาน ตั้งแต่การตั้งบ้านเรือน ในอดีตจะตั้งหมู่บ้านใกล้กับป่า และมีวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากป่าประจำหมู่บ้าน

โพสต์หน้ามาคุยกันต่อเรื่อง ป่าชุมชน สมุนไพรและBCGลดโลกร้อนได้อย่างไร

 

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน  #BCG   #สมุนไพรไทย   #ปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน

#หมอพื้นบ้าน  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน  #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.

#ปลูกพืชสมุนไพร