ผงะ!‘เมทิลโบรไมด์’ซึมลึก คนอีสานแหยงกินข้าวเน่า

โพลระบุ คนอีสานส่วนใหญ่เชื่อมีสารพิษตกค้างในข้าว เครือข่ายต่อต้านสารเคมีฯ ตอกย้ำ มีการรมข้าวซ้ำหลายครั้งจนสารตกค้างเกินค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ยันเมทิลที่แทรกอยู่ตามช่องว่างของโบรไมด์ไอออนเป็นอันตรายต่อร่างกาย การซาวข้าวสารช่วยไม่ได้

อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความเชื่อมั่นในการบริโภคข้าวของชาวอีสาน” โดยพบว่า ชาวอีสานเกินครึ่งเชื่อว่าข้าวบางส่วนบางยี่ห้อมีสารพิษตกค้าง และมีความกังวลบ้างในการบริโภค ทำให้คนส่วนใหญ่ระวังในการเลือกซื้อข้าว และซาวข้าวเพื่อทำความสะอาดก่อนหุงมากขึ้น

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความเชื่อมั่นของคนอีสานในการบริโภคข้าว หลังจากมีข่าวว่ามีสารพิษตกค้างในข้าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.56 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,152 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, หนองคาย, ชัยภูมิ, เลย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครพนม, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, ยโสธร, อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในข้าว ทั้งข้าวที่เก็บในโกดังและข้าวที่จำหน่ายในท้องตลาดบางยี่ห้อ ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.7 เชื่อว่าเป็นความจริง รองลงมาร้อยละ 21.8 เชื่อว่าไม่เป็นความจริง และที่เหลือร้อยละ 21.5 ไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น

ถามต่อว่า การที่มีข่าวสารพิษตกค้างในข้าวบางส่วนในช่วงนี้ คิดว่าเป็นเพราะเหตุใด อันดับหนึ่งร้อยละ 27.9 คิดว่า เป็นการปล่อยข่าวลือเพื่อหวังผลมากกว่า รองลงมาร้อยละ 25.9 คิดว่า เป็นเพราะการหย่อนยานในการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 24.0 เป็นเพราะเกษตรกรใช้สารเคมีมาก ร้อยละ 19.9 เป็นเพราะโรงสีและโกดังข้าวใช้สารเคมีมาก และที่เหลือเพียงร้อยละ 2.3 เป็นความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ข้าวเก่าเก็บไว้นานเกิน, การจัดเก็บไม่ดี รวมถึงไม่มีความคิดเห็น

อีสานโพลได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดต่อไปว่า ท่านมีความกังวลมากน้อยเพียงใดในการบริโภคข้าวไทยในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.0 ตอบว่ามีความกังวลบ้าง รองลงมาร้อยละ 27.5 ตอบว่าไม่มีความกังวลเลย และที่เหลือร้อยละ 14.5 ตอบว่ามีความกังวลมาก

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคข้าวในช่วงนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างระวังในการเลือกซื้อข้าวมากขึ้น ร้อยละ 72.9 และร้อยละ 29.1 ไม่ระวัง ในประเด็นพฤติกรรมการล้างทำความสะอาดข้าวก่อนหุงมากขึ้น พบว่าร้อยละ 80.4 ทำ และร้อยละ 19.6 ไม่ได้ทำ ในประเด็นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวนอกบ้าน พบว่าร้อยละ 51.6 ไม่ได้ทำ และร้อยละ 48.4 ทำ และในประเด็นพฤติกรรมหันมาบริโภคข้าวอินทรีย์หรือข้าวปลอดสารพิษ พบว่าร้อยละ 51.1 ไม่ได้ทำ และร้อยละ 48.9 ทำ

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี เครือข่ายต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวถึงการตรวจสอบคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงว่า การตรวจสอบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงนั้น จะทดสอบโดยการวัดปริมาณของโบรไมด์ไอออน (Bromide Ion) ซึ่งแตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) อีกที ทั้งนี้ โบรไมด์ไอออนไม่ได้ตกค้างอยู่ที่ผิวเมล็ดข้าวด้านนอกทั่วไป แต่จะซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุลของข้าว ดังนั้น การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจเจอโบรไมด์ไอออนเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) นั้น หมายความว่าจะต้องมีการรมข้าวซ้ำหลายครั้งมาก ถึงจะมีการตกค้างจำนวนมากขนาดนี้

เธอกล่าวว่า มูลนิธิฯ ตรวจพบโบรไมด์ไอออนในโมเลกุลข้าว 67.4 ppm ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเจอถึง 94.2 ppm แบบนี้ถือว่าอันตราย เพราะเกินกว่าค่ามาตรฐาน 50 ppm ซึ่งเป็นปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit: MRL) ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ที่สำคัญโบรไมด์ไอออนที่ตรวจเจอจำนวนมากเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นโบรไมด์ไอออนตามธรรมชาติ เนื่องจากมีข้าวถุง 12 ตัวอย่างที่ตรวจพบว่า ไม่มีการตกค้างของโบรไมด์ไอออนเลย จึงหมายความได้ว่าต้องเป็นโบรไมด์ไอออนที่มาจากการแตกตัวของสารเมทิลโบรไมด์เท่านั้น “แม้โบรไมด์ไอออนจะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าจะก่ออันตรายอะไรต่อร่างกาย แต่โบรไมด์ไอออนที่แตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ จะมีตัวเมทิลแทรกอยู่ตามช่องว่างของโบรไมด์ไอออนด้วย ซึ่งตัวเมทิลนี้ที่เป็นสารอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้การพบโบรไมด์ไอออนเกินค่ามาตรฐานจึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

น.ส.ปรกชลแจงว่า การแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการล้างข้าวหรือซาวข้าวนั้น ไม่สามารถขจัดโบรไมด์ไอออนได้แน่ เพราะมันซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุล ซึ่งการตรวจสอบยังต้องเอาเมล็ดข้าวไปเผาเพื่อสกัดโบรไมด์ไอออนออกมา ดังนั้น การซาวข้าวจึงไม่สามารถช่วยล้างโบรไมด์ไอออนออกไปจากข้าวได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ อย.เตรียมแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดค่า MRL ของสารเมทิลโบรไมด์ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร หรือเท่ากับโบรไมด์ไอออนไม่เกิน 50 ppm ตามค่ามาตรฐานนั้น น.ส.ปรกชล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะหน่วยมิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหารก็คือหน่วย ppm เช่นกัน เพราะ ppm ย่อมาจาก part per million หรือ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ซึ่ง 1 กิโลกรัมก็คือเท่ากับ 1 ล้านมิลลิกรัมนั่นเอง จึงเป็นในลักษณะของ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ดังนั้น การกำหนดค่า MRL อยู่ที่ 0.01 ppm จึงไม่มีทางเท่ากับ 50 ppm ตามที่ อย.อธิบายแน่นอน

น.ส.ปรกชลกล่าวด้วยว่า การกำหนดค่า MRL อยู่ที่ 0.01 ppm ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่ามาตรฐานโลกมาก ถือเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปได้ยากในการควบคุมสารตกค้างไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดค่า MRL ที่น้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะขนาดจีนยังกำหนดอยู่ที่ 5 ppm เท่านั้น และไม่แน่ใจว่าไทยมีเทคโนโลยีรองรับการตรวจถึงระดับ 0.01 ppm แล้วหรือยัง ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ppm ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาภายในประเทศ ว่าการตกค้างของสารในระดับใดจึงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม บางประเทศมีการตั้งค่ามาตรฐานที่สูงกว่านี้ ซึ่งการส่งออกต้องทำให้ได้ตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ตรงนี้คนในประเทศก็ย่อมอยากบริโภคข้าวที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าการส่งออกเช่นกัน

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชี่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ควรออกมาสร้างภาพโดยการชิมข้าวโชว์ แต่ควรเร่งออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง มากกว่าการประชาสัมพันธ์ว่าสารตกค้างไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีก็มีน้อย.

ที่มา : ไทยโพสต์ 23 ก.ค.56

บทความที่เกี่ยวข้อง