ผักกุ่ม ผักยืนต้นเป็นทั้งอาหารและยา

ช่วงเข้าหน้าแล้งตั้งแต่ปลายปี เห็นคนสวนตัดกิ่งต้นผักกุ่มน้ำจนเกือบไม่เหลือใบ นึกว่าจะไม่รอดแล้ว ต่อมาไม่นานกุ่มน้ำก็ออกใบอ่อนเต็มต้น นี่คงเป็นวิธีของคนสวนทำให้กุ่มแตกใบอ่อนอีกวิธีหนึ่งแทนที่จะรอแตกใบอ่อนและดอกอ่อนตามธรรมชาติ

ทำความเข้าใจกันว่าต้นผักกุ่มมีทั้งผักกุ่มน้ำและผักกุ่มบก เรียกชื่อต้นว่า “ผัก” แต่เป็นไม้ใหญ่ยืนต้นจึงเรียกว่าเป็น ผักยืนต้นก็ได้ และผักตามธรรมชาตินี้เหมาะกับอาหารตามฤดูกาลด้วยว่า หน้าร้อนกำลังมากินให้เหมาะในหน้าร้อน ก็ต้องยอดอ่อนและดอกของผักกุ่มน้ำ (Crateva religiosa G.Forst.) ซึ่งจะออกดอกในช่วงกุมภาพันธ์-เดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับผักกุ่มบก (Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs) ซึ่งออกดอกกุมภาพันธ์-เดือนกรกฎาคม

แต่ขอบอกไว้ดังๆ ก่อนว่า ยอดอ่อนและดอกของผักกุ่มทั้ง 2 ชนิด ไม่สามารถกินเป็นผักสดได้ เพราะมีสารพิษจำนวนมาก แต่ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยความชาญฉลาดก็จะนำมาดองก่อนรับประทาน หรือทำให้สุกก่อนเพื่อกำจัดสารพิษ ในอดีตเรียกว่านำมาผ่านการประสะเสียก่อน ให้นำส่วนของใบอ่อน ดอกอ่อนของกุ่มชนิดใดก็ได้มาดอง ซึ่งกรรมวิธีการดองของแต่ละภาคอาจต่างกัน เช่น วิธีของภาคเหนือ นำยอดผักกุ่มมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้ผักนิ่ม นำไปซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่ในน้ำข้าวมวกหรือน้ำซาวข้าว ใส่ข้าวสุก และเกลือลงไปเล็กน้อย ดอง 2-3 วัน นำมากินได้ อาจจะดองพร้อมดอกอ่อน แล้วจึงนำไปทำแกงอ่อม ทำคล้ายแกงขี้เหล็ก โดยนำผักที่ดองแล้วมาต้มคั้นน้ำทิ้งสักสองครั้ง เพื่อลดความขม และปรุงรสด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ น้ำปลา เกลือ ข้าวสารเล็กน้อย

ในอาหารการกินของชาวอีสาน เข้าใจว่านิยมกินผักกุ่มน้ำดองเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำไปผัดหรือแกง ส่วนชาวใต้หรือใครที่เดินทางไปภาคใต้ก็จะได้ลิ้มชิมรสผักกุ่มดองกินกับขนมจีนน้ำยา ผักกุ่มดองมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยเจริญอาหาร มีวิตามินเอและบี  มีแคลเซี่ยม และเป็นอาหารสุขภาพช่วยแก้ไข้ด้วย

สำหรับสรรพคุณทางยา ใบกุ่มน้ำ  ช่วยขับเหงื่อ ดอกกุ่มน้ำ แก้โรคตา เจ็บในลำคอ ลูกกุ่มน้ำ แก้ไข้ กระพี้กุ่มน้ำ แก้ริดสีดวงหนัก เปลือกกุ่มน้ำ แก้สะอึก ขับผายลม ขับเหงื่อ แก่นกุ่มน้ำ แก้นิ่ว รากกุ่มน้ำ ขับหนองให้กระจาย บำรุงธาตุ และในตำรายาโบราณกล่าวว่า กุ่มน้ำทั้งห้า มีรสเผ็ดร้อน แก้หนองอันเป็นก้อนให้กระจาย แก้สะอึก แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ขับเหงื่อให้ซ่านออกมา

ส่วนใบกุ่มบก ขับลม ฆ่าพยาธิ์ แก้กลากเกลื้อน แก้ตะมอย เปลือกกุ่มบก รสร้อน ขับลม แก้นิ่ว แก้ปวดท้อง ลงท้องคุมธาตุ ขับผายลม แก้บวม บำรุงไฟธาตุ กระตุ้น  ลำไส้ให้ทำงาน บำรุงหัวใจแก้โรคผิวหนัง กระพี้กุ่มบก ทำให้ขี้หูแห้งออกมา แก่นกุ่มบก แก้ริดสีดวง ผอมเหลือง รากกุ่มบก แก้มานกะษัย อันเกิดแต่กองลม

หากพิเคราะห์อย่างดีจะเห็นว่า ต้นกุ่ม จะเป็นยารสร้อน โดยเฉพาะเปลือกมักจะนำมาเข้ายาขับลม ส่งผลต่อลมส่วนบนของร่างกาย ช่วยทำให้ลมกระจาย และช่วยให้เหงื่อออก ซึ่งมักใช้ตัวยาจากกุ่มน้ำมากกว่ากุ่มบก มีตำรับโบราณกล่าวถึงยาแก้ลม ๑๒ จำพวก ประกอบด้วยคนทีเขมา ว่านน้ำ ข่า เปลือกกุ่มบก เอาส่วนเท่ากัน ทำเป็นผง กินวันละ หนึ่งช้อนกาแฟ มีอีกตำรับเกี่ยวกับยาแก้โลหิตพิการ เนื้อหนังเปื่อยพุพอง ส่วนประกอบคือ ตรีกฏุก รากกุ่มบก รากมะรุม ข้าวเย็นเหนือ ดอกบุนนาก ตำรานี้ใช้ต้มหรือดอง  ยังมีตำรับเกี่ยวกับ การแก้โลหิตพิการและเสมหะพิการ ประกอบด้วยตัวยา ว่านน้ำ ไพล กระเทียม พริก เปลือกกุ่มบก เอาส่วนเท่ากัน เพิ่มโกฐพุงปลาเท่ายาทั้งหลาย เป็นยาผง

นอกจากนี้มีตำรายาแก้ไข้ ชายหญิงเพื่อโลหิต ตัวยาได้แก่ รากกุ่มบก เปล้าใหญ่ เปล้าน้อย ส้มซ่า บุกคางคก และรากปล้องป่า ส่วนตำรายาล้านนาใช้กุ่มทั้งสอง ในตำรับยาอาบ ประกอบด้วยใบคา ใบข่า ใบมะขาม ใบขะจาว ขี้เหล็ก ลมแล้ง ใบคะแจ๊ะ ใบจ๊ะลิว กุ่มทั้งสอง หญ้าช้างน้อย นำมาต้มอาบ แก้ไข้ หรือในกรณีฝีที่มีไข้ ให้ใช้รากและเปลือกกุ่มทั้งสองฝนทา ถ้ากรณีเป็นตะคริวใช้ในยาเกี่ยวลม ประกอบด้วย ยอดกุ่มน้ำ สามยอด ห้อมเกี่ยว ๓ ยอด พริก ขิง ใช้ประคบ หากไม่หายใช้กุ่มต้มอาบ ต้นกุ่มยังปรุงเป็นยาตำรับยาเจริญอาหาร ยาทาแก้บวมพอง ซึ่งเข้าไพล ขมิ้น พริกน้อยและเปลือกกุ่มด้วย

ผักกุ่มน้ำมักขึ้นบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำลำคลองหรือลำธาร ขึ้นเองตามธรรมชาติ ดอกกุ่มน้ำมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นขาวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนกุ่มบกจะขึ้นตามป่าที่ดอน ดอกจะออกเป็นช่อเช่นกัน มีเกสรตัวผู้สีม่วงยื่นออกมาเป็นฝอยเล็กๆ เริ่มบานกลีบดอกจะมีสีเขีวอ่อนเมื่อบานเต็มที่จะมีสีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลกุ่มบกขนาดเท่าลูกหมากสีแดง นกชอบกิน ต่างกับผลกุ่มน้ำที่มี รูปรี หรือรูปไข่

แม้จะขึ้นตามธรรมชาติ ต้นกุ่มเริ่มมีการศึกษาพบว่าเป็นพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ใช้ประโยชน์ในอาหารและยาได้ ถ้าช่วยกันปลูกทำประโยชน์ก็เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำได้เช่นกัน