ผักบุ้ง สมุนไพรใกล้ตัว

 เมืองไทยกำลังรอลุ้นคลายล็อกเฟส 4 ที่จะช่วยให้กิจการและการดำเนินชีวิตคล่องตัวขึ้น แต่ก็ยังต้องร่วมมือกันรักษามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อไปด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย แต่ที่ไม่รอกันแล้วเพราะได้พิสูจน์ให้เห็นในช่วงล็อกดาวน์ก็คือ การมีแหล่งอาหารและยาสมุนไพรในครัวเรือนหรือในชุมชนที่สามารถช่วยบรรเทาวิกฤติไปได้ดี
     วันนี้ขอมาคุยฟุ้งเรื่อง ผักบุ้ง ซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่ายมาก มีนักปลูกผักได้แบ่งผักบุ้งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผักบุ้งไทย และผักบุ้งจีน ในผักบุ้งไทยก็ยังแยกออกเป็น 2 ชนิด อย่างแรกเรียก ผักบุ้งน้ำ ให้นึกถึงตอนที่นำมาปรุงเป็นอาหารจะทำให้เข้าใจได้ง่าย คือ ผักบุ้งไทยที่มักใช้ในแกงเทโพหรือแกงส้ม แกงอร่อยของไทยนั้นเอง และยังนำมาผัดพริกแกง ทำอาหารพวกยำ หรือลวกกินกับน้ำพริกก็ได้ ชนิดที่สอง เรียก ผักบุ้งนา หรือ ผักบุ้งแดง มักขึ้นเองตามธรรมชาติตามท้องไร่ท้องนาหรือห้วยหนองคลองบึง ผักบุ้งนี้ต้นเล็กเนื้อกรอบ สีออกแดง ๆ และมีรสฝาด ๆ ที่เราคุ้นเคยก็ตอนกินส้มตำอาหารยอดนิยมนั่นเอง และนำมากินแกล้มน้ำพริก ยำ ลาบ หรือบางคนนำมาทำแกงส้มกินก็อร่อยได้เช่นกัน และผักบุ้งจีน เป็นผักที่ใช้เมล็ดปลูกบนดินยกร่อง เห็นได้ทั่วไปบนแปลงชาวสวนผัก ผัก       บุ้งจีนเหมาะกับผัดผักบุ้งไฟแดง บางครั้งก็ใส่ในเย็นตาโฟด้วย และปัจจุบันใช้กินกับอาหารพวกสุกี้และหมูกระทะนั่นเอง
ผักบุ้งที่จะคุยในวันนี้เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea aquatica Forssk. ซึ่งเรียกกันว่าผักบุ้งนาหรือผักบุ้งแดง เป็นไม้เลื้อยไปหรือลอยในน้ำหรือขึ้นตามดินชื้น ในฤดูกาลนี้จะขึ้นได้ง่าย กินอร่อย ผักบุ้งมีคุณค่าทางอาหารสูง มีเส้นใยอาหาร แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง ไนอะซีน และวิตามินซี ผักบุ้ง เป็นผักที่ขึ้นได้และรู้จักทั่วเอเชีย ทั้ง จีน ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์
     นอกจากผักบุ้งจะใช้เป็นอาหารอร่อยแล้ว ในทางยาดั้งเดิมทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีการใช้ผักบุ้งกินเวลาปวดหัว นอนไม่หลับ และเป็นยาระบาย ในหลายประเทศในเอเซียใช้ใบผักบุ้งบด ทาฝี แผล ตุ่ม หรือริดสีดวง ที่มีอาการบวม ในประเทศอินโดนีเซียใช้น้ำต้มใบผักบุ้งแก้อาการไอ หากใช้น้ำต้มราก จะช่วยแก้พิษอาร์เซนิคหรือสารหนูหรือพิษจากการดื่มน้ำไม่สะอาดจากมลภาวะ ในกัมพูชาใช้ผักบุ้งบดพอกหัวบรรเทาอาการไข้สูง
     สำหรับความรู้ของคนจีนจะต้มผักบุ้งใส่เกลืออมแก้บวมในช่องปาก และในตำรายาจีนกล่าวว่า ผักบุ้งมีรสหวาน คุณสมบัติเบา และ เย็น ใช้เป็นยาภายนอก แก้หิด บวม และถอนพิษอักเสบ ใช้เป็นยาภายใน ผักบุ้งทั้งต้นใช้ขับความร้อน ถอนพิษ เช่นอาหารเป็นพิษ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาออก แก้ไอเป็นเลือด รากใช้รักษาตกขาว และแก้ปวดฟัน
     ในสรรพคุณยาไทยกล่าวว่า ผักบุ้งใช้เป็นยาถอนพิษ แก้พิษเบื่อเมา ถอนพิษยาทั้งปวง หรือคนที่กินพริกมากๆ อาจทำให้ตาจะฝ้าฟางก็ให้กินเถาและยอดผักบุ้งต้มกินถอนพิษได้ นอกจากนี้หากพิจารณาในตำรายาไทยยังพบว่ามีตำรับยาบางตำรับที่เรียกว่า “ผักบุ้ง” แต่ไม่ใช่ผักบุ้งชนิดเดียวกัน เช่น ผักบุ้งขัน หรือผักบุ้งทะเล ลักษณะใบแข็งหนา เว้ากลาง คล้ายใบส้มเสี้ยว ลักษณะดอก เถา ลูก คล้ายผักบุ้งไทย แต่เกิดในน้ำเค็ม ชายทะเล แพทย์ตำบลกล่าวว่า ผักบุ้งขันถอนพิษ รำเพรำพัด (อาการบวมเปลี่ยนที่ไปเรื่อย) หมอพื้นเมืองทางล้านนาใช้ต้มอาบถอนพิษ อีกชนิดชื่อ ผักบุ้งร้วม หรือผักบุ้งปลิง (หรือ ปิง-เชียงใหม่) คล้ายผักบุ้งไทย แต่ต้นสั้น ใบเล็ก เกิดตามหนอง คลองบึง ที่มีน้ำไหลเข้าออกไม่สะดวก ในทางยาใช้ต้นใส่หม้อต้มน้ำ เอาไอรม คนเข้ากระโจม แก้ฟกบวม แก้เหน็บชา หรือบวมทั้งตัว
     ตัวอย่างตำรับผักบุ้งทางล้านนา เช่น อันหนึ่งลมตาปั่น เมาหัว เปลือกกุ่มบก ก่ำต้น (มะก่ำต้น) ผักเปลว ผักบุ้งปิง ผีเสื้อ หญ้าหนาด ตำ นิ่งจู้หัวเทอะฯ เป็นยาประคบแก้ลมทำให้ปวดหัว ตาลาย
     อันหนึ่งสันนิบาตตาแดง เอารากพร้าว รากตาล รากหมาก ผากควาย (หญ้าปากควาย) เดื่อเกี้ยง แช่น้ำจ้าวกิน (น้ำจากการแช่ข้าวสารเจ้า) ถ้าว่า (หากว่า) บ่สว่าง (ไม่หาย) เอาผักบุ้งปิงว้องมือหนึ่ง หญ้าไซ ว้องมือ (ปริมาณเท่ากับการพันสมุนไพรรอบระหว่าง หัวแม่มือและนิ้วชี้ บนฝ่ามือ จนเต็ม )หนึ่งใส่เทอะฯ
     อันหนึ่งไข้ขางปุ (อาการร้อนใน ปากพอง) หรือฟุ่ง เอาขางปอย ผักบุ้งปิง แช่น้ำกิน ยาใช้ไอรม ใช้ใส่หม้อปิ๊บต้มเข้านั่งในที่ทำไว้ ท่านให้เอาดังนี้ 1. ผักบุ้งปิง 2. ผักบุ้งส้ม 3. ใบกล้วยตีบ 4.ใบปอหมัน 5.เครือและใบนำแน้ และอื่น ๆ อีกรวม 35 ชนิด
     ขอแนะนำตำรับยาไทยส่งท้ายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีผักบุ้งเป็นส่วนประกอบของยาต้มอาบ ใช้บรรเทาปวดเมื่อย วิงเวียน บำรุงผิวกาย ช่วยการไหลเวียนโลหิต สูตรมีดังนี้ 1. ยอดผักบุ้ง 5 ยอด 2.ใบมะกรูด 3-5 ใบ 3.ใบมะขาม 1 กำมือ 4.ใบส้มป่อย 1 กำมือ 5.ตะไคร้ 3-5 ต้น 6.ไพล 2-3 หัว 7.ใบพลับพลึง 1-2 ใบ 8.การบูร 15 กรัม 9. ขมิ้นชัน 2-3 หัว ลองทำต้มอาบติดต่อกันสัก 2-3 วัน
     ผักบุ้ง เป็นอาหารสมุนไพรใกล้ตัว มีรสยาจืดเย็น ใช้ต้มกินถอนพิษ แก้ไข้ได้ หรือใช้รมไอน้ำ เมื่อได้รับสารพิษ หรือบวมพอง วิธีกินที่สะดวกสุดก็ให้นึกถึงเวลากินส้มตำ ให้กินผักบุ้งไทยร่วมด้วย แต่ต้องล้างผักบุ้งให้สะอาด และยุคฟื้นฟูจากโรคระบาดโควิด-19 การปลูกผักบุ้งทำได้ง่าย แต่ไม่ควรปลูกในแหล่งน้ำที่สกปรกหรือน้ำเสีย เนื่องจากผักบุ้งจะดูดซับสิ่งสกปรกและดูดโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม ปรอท และตะกั่วไว้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ.