ผัก “อาเซียน” กินอร่อยและเป็นยาสมุนไพร

ตั้งแต่ต้นปี 2562 มานี้ ประเทศไทยรับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการต่อจากสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศแนวคิดหลักหรือ theme ในฐานะประธานอาเซียนว่า “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” แนวคิดหลักนี้มุ่งหมาย ให้ประเทศในอาเซียนร่วมมือกันในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และยังรวมไปถึงภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลกด้วย ก็เพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกันสู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะการกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียนนั่นเอง

มีผักอยู่ชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่ประชาคมอาเซียน ตั้งแต่เวียดนาม เขมร ลาว  ฟิลิบปินส์  มาเลเซีย  ไทย ไปจนนอกเขตอาเซียน เช่น อินเดีย จีน คือ ผักหวานบ้าน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าSauropu sandrogynus (L.) Merr. อยู่ในตระกูล Euphorbiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงประมาณ 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยวรูปไข่ปลายแหลม ขอบเรียบ ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบดูคล้ายใบมะยม ดอกสีขาวมีกลีบรองดอกแดง ออกตามง่ามใบ ช่วงที่ออกดอก เป็นช่วงเดือน กันยายน – พฤศจิกายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ผักหวานบ้าน เป็นผักที่คนไทยน่าจะรู้จักดีในแง่นำมากินเป็นอาหาร โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นน้ำแกงหรือแกงจืด หรือนึ่งลวกกินกับน้ำพริก หรือทำแกงเลียง แกงส้มก็ได้ แต่มีเรื่องน่าเรียนรู้ว่าผักหวานบ้านที่ภาคเหนือของไทยนั้นเรียกว่า จ๊าผักหวาน  นอกจากนำมากินเป็นอาหารเช่นภาคอื่น ๆ แล้ว ในตำรายาล้านนานั้นผักหวานบ้านมีบทบาทมากในแง่สรรพคุณทางยาสมุนไพร  โดยนำส่วนของรากผักหวานบ้านมาเข้ายาตำรับรักษาโรคและอาการ ต่าง ๆ เช่น โรคขางทุกชนิด ขางเป็นอาการแสดงของธาตุไฟทำให้ไม่สบาย  ได้แก่ ขางทำให้มีอาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอก็ดี ร้อนก็ดี ง่วงหลับก็ดี ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาด(เจ็บในคอ) ขางปิเสียบเป็นอาการจุกเสียดและร้อน มีอาการใจสั่น

ยังมีการใช้ในการเข้ายาแก้มะเร็ง (หมายถึงอาการเป็นก้อนเนื้อซึ่งอาจหมายถึงเนื้องอกที่ผิดปกติ) และใช้ผสมในตำรับยาแก้ฝีสาร ซึ่งจะใช้เป็นยาชะล้างฝีที่มีอาการร้อน และเข้ายาแก้ไข้ฝีเครือดำขาวเหลือง เข้ายาแก้พิษ นอกจากนี้ รากผักหวานบ้านยังเข้าตำรับยามุตขึด (หมายถึงโรคสตรี) อาการบวมพอง และใช้กรณีคนไม่อยากอาหาร อาการเจ็บหูก็ใช้เป็นยาหยอดด้วย

มีการเก็บข้อมูลความรู้จากหมอพื้นบ้านใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่ามีการใช้รากผักหวานบ้าน เข้ายาแก้ลมผิดเดือนและยาแก้กินผิด (อาการผิดสำแดง) โดยใช้ในรูปแบบยาฝน ประกอบด้วย รากมะนาว รากผักดีด รากผักหวานบ้าน รากยอ รากจำปี รากทองพันชั่ง นำมาฝนกับน้ำกิน และพบตำรับยาหมอพื้นบ้านที่ อ.สันป่าตอง ใช้รากผักหวานบ้านเข้าตำรับยาฝนแก้อาการเจ็บในปาก และแก้อาการปากเหม็นด้วย

ผักหวานบ้านเป็นยาเย็น ใบ ต้นและรากมีรสเย็น จึงมักนำมาใช้รักษาอาการที่เกิดจากธาตุไฟ หรือใช้เข้ายาถอนพิษไข้และแก้พิษ ระงับความร้อน และในอดีตนำมาใช้แก้คางทูมด้วย หากนำใบมาใช้นิยมใช้ใบสด แต่ถ้าใช้ราก ควรเลือกเก็บรากที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีและมักนำไปตากแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ต่อไป

หมอแผนโบราณที่ประเทศเวียดนาม มีการนำผักหวานบ้านมาใช้ในหลายโรค เช่น ใช้รากรักษาอาการไข้ ส่วนใบสดใช้รักษากรณีหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน โดยใช้ขนาด 30-40 กรัมต่อวัน ต้มน้ำกิน โดยหมอพื้นบ้านจะเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิดและกำหนดปริมาณการกินยาด้วยตนเอง ผักหวานบ้านยังใช้เป็นยาทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก นำใบสดมาคั้นน้ำแล้วนำน้ำยาไปต้ม จากนั้นผสมน้ำผึ้งนำไปทาที่ลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว ใบนำมาใช้แก้บวม หัด และอาการปัสสาวะออกน้อย รากก็เข้ายาช่วยขับปัสสาวะและลดอาการบวมได้ด้วย และที่น่าสนใจคือการประชุมสมาชิกประเทศอาเซียนในปีนี้  ได้มีการยอมรับถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าการใช้ผักหวานบ้าน เป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมในแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร (Promoting lactation) ด้วย

ผักหวานบ้าน จึงนับเป็นผักชนิดหนึ่งของอาเซียนหรือแห่งเอเชียเลยก็ได้ ที่ควรส่งเสริมให้ปรุงในมื้ออาหารต่าง ๆ อาจถือได้ว่าเป็นเมนูนานาชาติ ต้มจืดผักหวานบ้าน หรือมีรสเผ็ดร้อนอย่างแกงเลียงผักหวาน หรือแกงพื้นบ้านอื่นๆ ก็ได้ ในการต้อนรับสมาชิกอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นประธานครั้งนี้  หากตั้งโจทย์ในการปรุงอาหารด้วยผักหวานบ้าน แล้วให้เชฟชั้นนำของไทยมาช่วยกันทำให้ผู้นำประเทศอาเซียนกินกันก็น่าจะช่วยสร้างชื่อให้อาหารไทย และยังเป็นเมนูอาหารสุขภาพด้วย เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระแล้ว ผักหวานบ้านยังเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น กินแล้วระงับความร้อนในร่างกาย กินก่อนประชุมสุดยอดอาเซียนน่าจะช่วยให้ร่างกายเย็น ๆ หายร้อนรุ่มประชุมกันได้อย่างราบรื่นจนบรรลุผลสำเร็จด้วยดี

          ผักหวานบ้านปลูกง่ายขึ้นง่าย สามารถขึ้นได้เองด้วย เก็บกินได้ตลอดทั้งปี หรือจะปลูกสร้างรายได้เสริมเก็บใบขายก็ยังได้ จำไว้ว่าผักหวานบ้าน คือ  ผัก “อาเซียน” กินอร่อยและเป็นยาสมุนไพรด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง