ผ่าด้าม ไม้ไทยขนานแท้

สักเดือนกว่าๆ ข่าวจากหนังสือพิมพ์รายงานว่า ชาวบ้านจังหวัดสุโขทัยอนุรักษ์ต้นไม้ท้องถิ่นหายากหลงเหลืออยู่ต้นเดียว ยืนโดดเดียวกลางไร่มันสำปะหลัง ที่บ้านวัดโบสถ์ ต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และที่เป็นเรื่องต้องตาต้องใจบรรดาชายหนุ่ม เพราะพาดหัวข่าวว่า สมุนไพรนี้ ‘ไวอากร้า’เรียกพี่ ! ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่าคือต้นไม้ชนิดไหนแน่

เท่าที่เสาะหาความรู้ชื่อต้นไม้ที่เรียกว่า ผ่าด้าม นั้นก็นับว่าเป็นต้นไม้ที่คนไทยน่าจะภูมิใจ คือ ผ่าด้าม เป็นไม้ที่มีกำเนิดในประเทศไทย เนื่องจากการศึกษาพืชชนิดนี้ครั้งแรกโดยพบตัวอย่างพืชที่ดอยสุเทพ จึงกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia sootepensis Hutch. Gardenia อันหมายถึงพืชในกลุ่มดอกพุด ส่วนคำว่า sootepensis (สุเทพเอนซีส) ตั้งชื่อให้เกียรติตามสถานที่พบตัวอย่างพืชนั่นเอง

ต้นผ่าด้าม พบได้มากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง แต่ก็พบในภาคอื่นด้วยแต่ไม่มากนัก และมีชื่อท้องถิ่นที่ได้รับการบันทึกจากหอพรรณไม้ เช่น อีสานทั่วไปเรียกว่า “ไข่เน่า” แต่ที่นครราชสีมาเรียกว่า “ผ่าด้ามหรือยางมอกใหญ่”ภาคเหนือเรียกว่า “คำมอกช้างหรือคำมอกหลวง” ซึ่งคำว่า คำมอกหลวง ใช้เป็นชื่อที่เรียกทางราชการ ที่ลำปางเรียกว่า “สะแล่งหอมไก๋หรือหอมไก๋” คนเมือง(คนเหนือทั่ว ๆ ไป) เรียก “ไม้มะไขมอก”ม้ง เรียกว่า “ซือเก่าพรึ”ปะหล่อง เรียกว่า “เบล่เด่อปุดย” เป็นต้น ชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียกว่า Golden Gardenia และมีการกระจายพันธุ์ในพม่า และลาว เพื่อนบ้านของไทยด้วย

ผ่าด้าม เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงสั้น ๆ ก่อนออกดอก ลำต้นมีความสูงของต้นประมาณ 7-15 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมและโปร่ง เรือนยอดโปร่ง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งแผ่กว้าง กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีครีมอ่อนหรือสีเทาถึงสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ด หลุดออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ใบออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีชมพูอ่อน มีขนสีเงิน ใบแก่เขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียด ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ หรือตามปลายยอดมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ออกผลช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ผลสด มีเนื้อ สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ รูปกระสวยแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ผิวมีปุ่มหูดกับช่องอากาศมียางเหนียวสีเหลืองข้นเป็นก้อนที่ปลายยอด มีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า คนอีสานจึงเรียกชื่อไม้ชนิดนี้ว่า ต้นไข่เน่า นั่นเอง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-400 เมตร

ผ่าด้ามหรือต้นคำมอกหลวง เป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงา อีกทั้งยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะให้ดอกมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก โดยจะออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และดอกจะบานประมาณ 2-3 วัน แต่ดอกยังคงส่งกลิ่นหอมได้ยาวนานแม้ดอกร่วงแล้วก็ตาม คนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือแต่ดั้งเดิมจะนิยมนำดอกไปถวายพระ หรือบูชาพระเพราะดอกเหลืองสวยกลิ่นก็หอม และทั้งคนภาคเหนือและอีสานแต่โบราณจะนิยมใช้ผลนำไปสระผมเพื่อชะล้างทำความสะอาดเส้นผม แล้วยังทำให้ผมหอมเป็นที่ชื่นชอบด้วย ชาวม้งนำเอาเนื้อในเมล็ดแก่มากิน และในอดีตมีการนำยางเหนียวจากยอดนำมาขยี้จนเป็นก้อน ๆ แล้วนำไปใส่ในร่องระหว่างโคนมีดกับด้าม จะช่วยทำให้มีดแน่นติดกับด้ามมีดมากขึ้น หรือนำไปทำยางติดจักจั่น เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างและงานแกะสลักได้

ในส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพร มีการนำแก่นปรุงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน และมีการนำเอาแก่นคำมอกหลวงหรือผ่าด้ามผสมกับแก่นมะพอก นำมาต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟใช้อาบและสระผม ส่วนเมล็ดคำมอกหลวงนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหาได้

ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าใช้เนื้อไม้ เข้ายากับโมกเตี้ย และสามพันเตี้ย ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด และการศึกษาของ อาจารย์วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล ที่ศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาอัมพฤกษ์และอัมพาต ที่ชัยภูมิ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ สุรินทร์ กระบี่ ยโสธร และอุบลราชธานี ได้ตำรับยามา 20 ตำรับ พบว่ามีตำรับยาที่ใช้แก่นผ่าด้ามหรือคำมอกหลวง นำไปเข้ายากับแก่นโมกหลวงหรือโมกใหญ่ (Holarrhena pubescens Wall. exG.Don) ลำต้นมุยแดงหรือมะคังแดง (Dioecercis erythroclada (Kurz) Tirveng.) รากและลำต้นมะคังขาว หรือตะลุมพุก (Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. &Sastree) โดยนำสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดมาต้มรวมกันดื่มแก้อัมพฤกษ์

เท่าที่เสาะหาข้อมูลยังไม่พบว่ามีการใช้เป็นยาบำรุงเพศแบบไวอากร้าของหนุ่มสุโขทัยที่เป็นข่าว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีพืชอีกชนิดหนึ่งคล้ายต้นคำหมอกหลวง เป็นไม้หายากมากๆ หายากในระดับโลกเลย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia coronaria Buch.-Ham. ชื่ออื่น ๆ เช่น คงคา พุดน้ำ พุดใหญ่ (สุราษฎรธานี) คำมอก (ภาคเหนือ) ชันยอด ปันยอด อ้างว่า(ราชบุรี) ผ่าด้าม (ภาคกลาง) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Orange Gardenia ในบังคลาเทศใช้แก้ไขข้ออักเสบและหลอดลมอักเสบ ในพม่าใช้แก้ไข้และโรคเลือดที่ผิดปกติ ส่วนผลใช้แก้ไอและขับเสมหะ

ในไทยกับพืชชนิดหลังนี้ยังมีข้อมูลน้อยมาก ทางมูลนิธิคงได้ไปย้อนรอยสมัยสุโขทัยตามเก็บข้อมูลไม้โบราณต้นนี้แล้วจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป.

บทความที่เกี่ยวข้อง