พัฒนาการใช้หนอนไหมเป็นโมเดลคัดกรองยา

นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม กรมหม่อนไหม กล่าวว่า ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ ได้ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.สันทัด จันทร์ประภาพ ทดลองนำไหมไทยพื้นบ้านพันธุ์นางลายไปศึกษาและทดสอบฤทธิ์ของยา ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ได้ผลดีและให้ผลลัพธ์ทำนองเดียวกับสัตว์ทดลองที่ใช้อยู่เดิม เช่น หนู และสุนัข ซึ่งช่วยให้การทดสอบฤทธิ์ของยาทำได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณ

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การวิจัยและพัฒนายาในระดับสากลมีข้อกำหนดหลักให้มีการศึกษาวิจัยด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลองก่อนที่จะนำยาดังกล่าวมาศึกษากับมนุษย์ โดยสัตว์ทดลองที่นำมาใช้จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ อาทิ หนู สุนัข หรือลิง ซึ่งเป็นโมเดลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้เพื่อคาดการณ์ในการรักษาหรือความเป็นพิษที่จะเกิดกับมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันการใช้สัตว์ทดลองดังกล่าวประสบปัญหาในด้านจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลอง และเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

ทั้งนี้ จากโครงการความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้ง นี้ ทำให้พบว่าหนอนไหมมีความเหมาะสมในการคัดกรองสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เปรียบเทียบกับอินซูลินของมนุษย์ และสามารถใช้หนอนไหมเป็นโมเดลในโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่สามารถใช้หนอนไหมในการศึกษาวิจัยการกรองฤทธิ์ของยาได้ เนื่องจากกรมหม่อนไหมสามารถผลิตหนอนไหมได้จำนวนมาก และราคาถูกกว่าสัตว์ทดลองชนิดอื่น ดังนั้นการใช้โมเดลหนอนไหมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการคัดกรองยาและสมุนไพรไทยในเบื้องต้นก่อนจะนำไปศึกษาในสัตว์ทดลองชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก และในอนาคตกรมหม่อนไหมจะได้พัฒนาการคัดเลือกพันธุ์ไหมทั้งพันธุ์ไทยพื้นบ้าน พันธุ์ไทยลูกผสม และพันธุ์ต่างประเทศที่มีความเหมาะสมในการใช้คัดกรองยาเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ http://goo.gl/xMsL7
3 เม.ย.2555

บทความที่เกี่ยวข้อง