พัฒนาพลังงานทางเลือก แล้วก๊าซ น้ำมัน จะลดลงบ้างไหมนิ

สบู่ดำ เมล็ดทานตะวัน มะพร้าว ถั่วเหลือง และปาล์ม พืชหลายชนิดนำมาสกัดเป็นไบโอดีเซล รวมถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่าง “สาหร่าย” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก

มุมหนึ่งในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2556 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาต่างผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่บอกเล่าคุณค่าความมหัศจรรย์ของสาหร่าย ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายน้ำมัน ผลงานส่วนหนึ่งของเหล่านักศึกษาจากห้องปฏิบัติการวิจัยสาหร่ายประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากข้อมูลแผ่นพับของภาควิชาชีววิทยา ระบุว่าสาหร่ายขนาดเล็กเจริญเติบโตรวดเร็ว เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในรูปของคาร์โบไฮเดรตและแหล่งพลังงานสะสม เช่น ไขมัน ชีวมวลของสาหร่ายซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานชีวภาพหลายชนิด เช่น หมักเพื่อผลิตเอทานอล หรือสกัดไขมันเพื่อเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซล ปัจจุบันงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล

ขั้นตอนการนำสาหร่ายมาผลิตน้ำมัน เริ่มจากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กที่จำเป็น กรองเซลล์แล้วอบแห้ง บดให้เป็นผง แล้วนำเซลล์มาสกัดไขมันด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ จากนั้นเปลี่ยนไขมันที่สกัดได้ให้เป็นน้ำมันชีวภาพ

เอิร์น น.ส.พัชริดา บุญโคตร วัย 23 ปี ที่เคยไปช่วยพี่ๆ เก็บตัวอย่างสาหร่ายจากแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนลงมือศึกษาอย่างจริงจังใน “โครงการการเพาะเลี้ยงสาหร่ายหลากหลายพันธุ์จากแหล่งต่างๆ เพื่อผลิตน้ำมันชีวภาพ” กล่าวว่าอนาคตพื้นที่การเกษตรจะลดลง แต่การเลี้ยงสาหร่ายไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่ จะเลี้ยงในแนวตั้ง เลี้ยงในท่อหรือรูปแบบต่างๆ ก็ได้ และในต่างประเทศสาหร่ายสีเขียวๆ เหล่านี้นำมาเลี้ยงเป็นม่านบังแดด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีของการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์”

เอิร์นเล่าต่อว่าจากการวิจัยในต่างประเทศพบว่าการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในพื้นที่ขนาดเดียวกันกับพืชชนิดอื่น สาหร่ายให้น้ำมันมากกว่า แถมใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อย ก่อนโชว์แผนภาพพื้นที่การเพาะปลูกต่อผลผลิตที่ได้เปรียบเทียบสาหร่ายกับปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และดอกทานตะวัน

พร้อมย้ำว่าการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพจะนำหัวเชื้อมาใส่แล้วเลี้ยง แต่วิธีของเรามุ่งสู่เกษตรกรให้เพาะเลี้ยงได้ง่าย โดยนำน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เช่น คูเมือง แม่จอกหลวง อ่างแก้ว แต่ละแหล่งน้ำมีสาหร่ายตั้งต้นหลายสายพันธุ์ แล้วนำสูตรอาหาร “CMU 03” จากห้องวิจัยมาใช้เพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำที่ได้มา พบว่าสาหร่ายซินีเดสมัส Scenedesmus เจริญเติบโตได้ดีกว่าชนิดอื่นถึงร้อยละ 70 และเป็นสาหร่ายให้น้ำมันสูง

จากนั้นทดลองเลี้ยงในน้ำเปล่าใน 3 สถานที่ต่างกัน พบว่าเกิดสาหร่ายซินีเดสมัสพันธุ์เดียว ดังนั้นสูตรอาหารนี้ทำให้คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันได้

ตั้ม นายบัญชา ขำศิริ วัย 26 ปี เล่าถึงโครงการ “การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กโดยใช้น้ำทิ้งเพื่อผลิตน้ำมันชีวภาพ” ว่า นำสาหร่ายมาเลี้ยงในสภาวะเปิด โดยเลี้ยงในน้ำทิ้งจากฟาร์มแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน แต่ต้องเจือจางน้ำทิ้งให้มีปริมาณเหมาะสมก่อนใส่หัวเชื้อสาหร่ายสีเขียวที่ให้น้ำมันลงไป ไม่ต้องเติมสารอาหาร พบว่าผลผลิตที่ได้ดีกว่าการใช้สูตรอาหาร CMU 03 ปัจจุบันบ้านเรามีน้ำทิ้งในโรงงานอุตสาหกรรมมาก หากเลี้ยงสาหร่ายจะช่วยลดน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ได้น้ำมันและลดต้นทุนการใช้สารเคมีที่ใช้บำบัดน้ำซึ่งมีราคาสูง

“เลี้ยงสาหร่ายไม่ต้องคำนึงถึงน้ำและดินมาก สาหร่ายสร้างอาหารและสังเคราะห์แสงได้ในตัวเอง ที่สำคัญสาหร่ายดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศแล้วปล่อยออกซิเจนกลับสู่บรรยากาศ ลดภาวะโลกร้อน มีแต่ได้กับได้ และเราก็ได้น้ำมันด้วย” นายณัฐวุฒิ หวังสมนึก หรือเบนซ์ อายุ 23 ปี ขยายความให้ฟัง

ก่อนเล่าถึงโครงการ “การเปรียบเทียบสูตรอาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อการผลิตไขมัน” ว่าคิดสูตรอาหาร 5 ชนิด แล้วปรับความเข้มข้นของสารอาหารให้ลดลง ก่อนชักนำให้สาหร่ายขาดสารอาหาร ทำให้เครียด ส่งผลให้สาหร่ายสะสม ไขมันไว้ในเซลล์เพิ่มยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง แม้สาหร่ายชนิดนี้ให้ปริมาณไขมันที่สูงอยู่แล้ว เพื่อลดต้นทุนแล้วนำไปสกัดและผ่านกระบวนการต่างๆ ให้เป็นไบโอดีเซลต่อไป
“พวกเราหวังว่า พลังงานจากสาหร่ายจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี เพื่อทดแทนพลังงานจากก๊าซและถ่านหิน” ตั้มและเบนซ์กล่าว

ขณะที่เอิร์นบอกว่า “เรายังทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง และอยากให้เกิดการเลี้ยงสาหร่ายในระบบอุตสาหกรรม อยากให้คนอื่นรู้ว่าสาหร่าย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ มีคุณค่าและช่วยโลกเราได้ ขณะเดียวกันเราต้องช่วยโลกของเราด้วย ไม่ใช่เพียงแต่คิด พูด แต่ไม่ลงมือทำ”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ 10 ก.ย.2556

บทความที่เกี่ยวข้อง