พิธีนอนกระด้ง

เคยได้ยิน “พิธีนอนกระด้ง” มั้ยคะ?
ก็คือเอาเด็กแรกเกิดมานอนกระด้ง  เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน
แน่นอนว่าคนที่เกิดที่โรงพยาบาลหรืออยู่ในเมือง จะไม่ได้ประกอบพิธีกรรมนี้
เพราะเป็นพิธีกรรมที่ทำต่อเนื่องจากการคลอดด้วยหมอตำแย

เราไปดูกันค่ะว่า…พิธีกรรมนอนกระด้งทำเพื่ออะไร และทำยังไง?

ก่อนที่จะเอาเด็กไปนอนกระด้งต้องอาบน้ำเด็กก่อน และเด็กที่พูดถึงนี้คือ เด็กอ่อน เด็กแรกเกิดนะคะ
เราทำความสะอาดเด็กด้วยการเช็ดคราบเลือด คราบคาว คราบเมือกที่เลอะ หรือใช้น้ำมันมะพร้าวเช็ดไขที่ติดตามตัวของเด็กเพื่อช่วยให้ไขลอกออกไป

แล้วนำเด็กมาอาบน้ำอุ่นที่เตรียมไว้ในอ่างน้ำ และในขันอาบน้ำจะใส่แก้วแหวนเงินทองแล้วแต่ตามฐานะลงไปในขันอาบน้ำ

เชื่อว่า…เมื่อเติบโตไปภายภาคหน้าจะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง…เรียกว่า ร่ำรวยเงินทอง 

หมอตำแยทำการอาบน้ำเด็กด้วยท่านั่งเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง เอาเด็กวางตรงหว่างขา หันหัวเด็กไปทางปลายเท้า แล้ววักน้ำอุ่นอาบล้างตัว
เราต้องระวัง!! ไม่ให้สายสะดือเปียกน้ำ พร้อมกันนั้นหมอตำแยจะดัดอวัยวะส่วนมือ ขา แขน แข้งของเด็กให้เหยียดตรง เพื่อคืนรูปหลังจากที่เด็กโค้งตัวในท้องแม่มานาน

หากไม่ดัด แขน ขา อวัยวะของเด็กในช่วงแรกเกิด….จะเกิดอะไรขึ้น?

เคยเห็นเด็กขาโก่งมั้ยคะ?  คนหลังค่อมนิดหน่อย?
ปัญหาเล็กๆ เหล่านี้ทำให้บุคลิกภาพไม่ดี หลายคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง หลังค่อมหรือขาโก่งล้วนส่งผลเสียต่อสรีระและสุขภาพในระยะยาว อาจจะปวดหลัง กระดูกสันหลังมีปัญหา
ปัญหาคนขาโก่งในวัยชราหรือคนอ้วน…แน่นอนเลยว่าโครงสร้างขาที่ผิดรูปจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้ท่าเดินไม่ปกติ และในระยะยาวส่งผลต่อกระดูกสันหลังส่วนล่าง …ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดเอว ร้าวลงขา อาการจะมาเป็นชุดแบบนี้

จากนั้นหมอตำแยนำผ้าขาวขนาดกว้าง 1 ฝ่ามือมาห่อพันรอบท้องเด็กโดยเจาะช่องบริเวณสะดือไว้
บางพื้นที่ใช้ผ้าอ้อมห่อเด็กทั้งตัวและพันขาเด็กไว้ เพื่อไม่ให้ขาโก่ง เอาผ้ารองหัวเด็กให้ดีอย่าให้บิดเบี้ยว
จากนั้นรวบปลายด้านเหนือศีรษะมัดด้วยเชือกและทำเช่นเดียวกันกับทางเท้า
การทำเช่นนี้เป็นการ “บ่มผิวเด็ก”  เพื่อให้ผิวสวยไม่เป็นโรค ผิวหนังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง

เมื่อผิวหนังของเด็กที่ติดมาจากท้องแม่ลอกหลุดหมดแล้วจึงเลิกบ่มผิว
เด็กที่ห่อเรียบร้อยแล้วให้นำเด็กไปวางบนกระด้งที่มีเบาะรองแล้วใช้ผ้าขาวปูทับเบาะอีกชั้นหนึ่ง….

จากนั้นจะทำอย่างไรต่อไป….รออ่านโพสต์หน้านะคะ

 

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน  #คนท้อง   #สมุนไพรไทย   #อยู่ไฟ   #หมอตำแย

#หมอพื้นบ้าน  #ภูมิปัญญา  #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ   #สสส.