พิมเสนหนาด

คนไทยรู้จักคำว่า พิมเสน มานานแล้ว และคุ้นเคยในการใช้ขยี้สูดดมแก้วิงเวียนศีรษะหรือเวียนหัว มักบรรจุในตลับเพื่อติดในกระเป๋าตั้งแต่รุ่นคุณยายคุณแม่มาถึงรุ่นคุณลูก หรือที่นำพิมเสนมาผสมในยาดม มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น พิมเสนแต่โบราณนี้ได้จากการกลั่นเนื้อไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. อยู่ในตระกูล Dipterocarpaceae ซึ่งในธรรมชาติของต้นไม้นี้มีสารประกอบที่กลั่นได้ส่วนมาก คือ ดี-บอนีออล (d-borneol) เป็นพวก โมโนเทอร์พีน แอลกอฮอล ซึ่งจะนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งมาจากจีน แต่ปัจจุบันพิมเสนธรรมชาติแทบไม่มีการผลิตแล้ว และมีราคาแพงมาก ในปัจจุบันจึงใช้พิมเสนสังเคราะห์แทน ซึ่งมาจากปฏิกิริยารีดักชันของการบูร (dl-camphor) ได้เป็น ดีแอล-บอนีออล (dl-borneol)

พิมเสน ยังมีอีกชนิดซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน เรียก ต้นพิมเสน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pogostemon cablin (Blanco) Benth. อยุ่ในตระกูล Labiatae สารสำคัญเป็น บอนีออล (Borneol) มีการนำมาใช้ตามสรรพคุณยาไทย เช่น ใบ  ปรุงเป็นยาเย็น ถอนพิษร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากมักปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ หรือตำรับยาจันทลีลา นอกจากนี้ในภูมิปัญญาทางล้านนามีการใช้ ทั้งต้นของ ต้นพิมเสน ซึ่งมีกลิ่นหอมเย็น ฉุน เป็นเครื่องยาชนิดหนึ่งในยาหอมแก้ลม ยาเย็นสำหรับดับร้อนถอนพิษไข้และยาเขียว ใบสดใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดประจำเดือน เป็นยาขับประจำเดือน (อาการที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แต่ไม่ตั้งครรภ์) ยาชงจากยอดแห้งและรากแห้ง อัตราส่วน 1 ต่อ 10 ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ หรือแก้ปัสสาวะติดขัด และใช้ช่วยขับลมในทางเดินอาหาร ต้นพิมเสนชนิดนี้ เริ่มเป็นต้นไม้ที่หายากขึ้น

นอกจากนี้ในวงการยาสมุนไพร เรายังมีพิมเสนอีกชนิดเรียกว่า พิมเสนหนาด (Ngai camphor) ซึ่งได้จากหนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Blumea balsamifera (L.) DC. ตระกูล Asteraceae (หรือ Compositae) ส่วนประกอบในใบ เป็นสารหอมนำมากลั่นได้สารชื่อ แอล-บอนีออล (l-borneol) แต่ก็มีสารอื่นที่มีกลิ่นหอมร่วมด้วยหลายชนิดในปริมาณไม่มาก เช่น ซิเนออล (ceneol) ลิโมนีน (limonen) และ เซสควิเทอร์พีน (sesquiterpene)

ในทางการแพทย์แผนไทยและล้านนา ไม่ได้ใช้ผลึกของสารที่กลั่นออกมา แต่ใช้ใบเป็นยาสมุนไพร หรือประโยชน์ทางยา และใช้ในทางพิธีกรรม หนาด หรือ หนาดใหญ่ คนไทยเรารู้จักกันดี และเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในแถบทางเภาคหนือ บนดอยและในภาคอีสาน แต่ในวัฒนธรรมของคนเมืองล้านนามักปลูกไว้บริเวณหน้าบ้าน ตามความเชื่อในการช่วยปกป้องและดูแลรักษาสุขภาพไม่ให้ถูกรบกวนด้วยภูติ ผีปีศาจ และในเวลาที่ไม่อยู่บ้าน คนล้านนาก็จะสานตาแหลวอันเล็ก (เป็นไม้ไผ่สานเป็นตาราง ลายสานที่ห่างดูคล้ายลายสานบริเวณก้นเข่งที่ใช้ไม้ไผ่สาน) นำมาแขวนหน้าบ้าน ในลายไม้ไผ่ ก็จะมีเชือกทำด้วยหญ้าคาที่ยังเขียวสด มีใบหนาดแซมร่วมด้วย เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านตนเอง

ต้นหนาด เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ใบโตยาว มีขนอ่อน ทั้งใบต้น และกิ่ง ดอกออกเป็นช่อสีขาวดอกเล็ก ๆ คล้ายดาวเรืองหรือขลู่ สูงประมาณ 5-6 ฟุต ขึ้นดีในที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน สามารถนำมากลั่นได้สารผลึกที่เรียกว่าพิมเสนหนาด ใบใช้ต้มเป็นยาช่วยให้เหงื่อออก ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง สมัยก่อนใช้ใบหั่นมวนกับยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูกแต่ปัจจุบันไม่นิยมเพราะมียาขนานอื่นใช้แทนแล้ว ใบหนาดยังเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่สำคัญในทำลูกประคบล้านนา และปรุงในตำรับยารมไอน้ำหรือยาอาบ ช่วยแต่งกลิ่นให้หอม ช่วยกระจายลมในร่างกายเมื่อได้สูดดมไอระเหยนั่นเอง

หนาดใหญ่ ยังมีการกระจายทั่วทั้งเอเชีย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์คล้ายกับไทย และที่มีเพิ่มเติม เช่น ที่เวียดนามมีตำรายาใช้ใบหนาดแก้ไอ ลดปวดเกร็ง แก้ปวดทั่วไป โรคกระเพาะอาหาร และใช้ใบต้มรวมกับพืชตระกูลส้มเช่นใบส้มและใบตะไคร้ ใช้สูดดมไอระเหยแก้หวัด แก้ไข้ และแก้ไอ และยังมีการใช้ใบสด ๆ ขยี้หรือหั่นทาขมับ แก้ปวดหัวข้างเดียว หรือทากรณีเป็นหิดได้

ในฟิลิปปินส์ ยอมรับใบหนาดใหญ่ให้เป็นสมุนไพรหนึ่งในสิบที่ใช้กันของประเทศ เช่น ใช้แก้ท้องเสีย แก้ไอ และใช้เป็นชาชงแก้หวัดได้ด้วย และใช้เป็นยาภายนอก เช่น กรณีมีดบาดและแผล ใช้ต้มน้ำอาบในหญิงหลังคลอด ในใต้หวัน เรียกหญ้าลมแรง 大风草 ใช้ทั้งต้น แก้หวัด แก้อาการปวดท้อง แก้ปวดปลายประสาท โดยนำมาต้มน้ำกิน นอกจากนี้ยังใช้แก้ไอ และถ้านำใบมาสับหรือซอยให้ละเอียด ต้มน้ำกิน ใช้แก้หวัด แก้บวมผิวหนังที่เป็นพิษ และแก้ปวดประจำเดือนด้วย

ปัจจุบันยังมีงานศึกษาวิจัยไม่มากนัก เช่น งานวิจัยกับสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารละลายของใบทางหลอดเลือดดำ พบว่าทำให้ความดันโลหิตของหนูทดลองลดลง โดยการลดการเต้นของหัวใจ และขยายหลอดเลือดส่วนปลาย อีกทั้งทำให้เพิ่มระดับการเคลื่อนที่ของการหายใจขึ้น (amplitude) ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ และมดลูก จึงควรส่งเสริมให้การศึกษาวิจัยเพิ่มมากขึ้น

     หนาด เป็นพืชที่คนไทยรู้จักดีแต่ไม่ค่อยมีการนำมาใช้ในปัจจุบัน เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพ ปลูกง่าย เขียวตลอดปี ปลูกเพียงต้นเดียวรากงอกออกไปที่ใดก็จะมีต้นขึ้นมาได้อีกหลายต้น เป็นตัวยาที่อยู่ในตำรับยาไทยและตำรับยาล้านนาหรือตำรับพื้นบ้าน ฤดูฝนนี้ใครที่สนใจปลูกต้นไม้ให้นึกถึง หนาด ที่ดูแลสุขภาพร่างกายแล้วยังดูแลสุขภาพจิตใจตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยด้วย