พืชสมุนไพร เสี่ยงภัยกับ CPTPP

เรื่องที่ร้อนแรงสุด ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับวงการอาหารและพืชสมุนไพรในเวลานี้ คือ การที่ไทยจะขอเข้าร่วมสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive  and  Progressive  Agreement  of  Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นนส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งดีลการค้านี้มีผลกระทบเกี่ยวข้องกับเราทุกคน เพราะสาระสำคัญมีทั้งเรื่อง ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่ที่จะคุยกันที่นี้ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยเห็นว่าสำคัญสุด ๆ คือ ผลกระทบต่อเมล็ดพันธุ์ทั้งอาหารและยาสมุนไพร

หากไทยยอมเข้า CPTPP จะต้องยอมรับการเข้าไปในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ  -UPOV  ซึ่งการคุ้มครองนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับกฎหมายสิทธิบัตรมาก ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญหากประเทศใดเข้า CPTPP สมาชิกจะต้องเข้าร่วมความตกลงเกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางปัญญา 6 ฉบับ ซึ่งรวมถึง UPOV 1991 (ฉบับปี ค.ศ.1991) ด้วย แล้วอิทธิฤทธิ์ของ UPOV 1991 นั้นจะส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงสายพันธุ์พืชอย่างกว้างขวาง และแน่นนอนส่งผลต่อสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์ของพืชอาหารและสมุนไพร เพราะจากเดิมวิถีเกษตรที่เราเก็บพันธุ์จากธรรมชาติ หรืออาจซื้อพันธุ์มาแล้วก็เก็บขยายพันธุ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไปก็จะทำไม่ได้หรือทำได้ยากมากๆ เพราะต้องได้รับอนุญาต ซึ่งจะทำให้เกษตรกร  หมอพื้นบ้านที่เป็นนักปลูกพืชยาสมุนไพรสุ่มเสี่ยงกลายเป็นอาชญากรแบบไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่สิทธิการปลูกเป็นความมั่นคงของอาหารและสมุนไพรเลยทีเดียว

UPOV 1991 เปิดโอกาสให้เกิดการผูกขาดได้ง่าย ทั้งพันธุพืช ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนของพันธุ์พืชที่มีผู้ถือสิทธิครอบครองไว้ ก็จะสามารถตามมาเอาผิดทางกฏหมายได้ง่าย ๆ ลองนึกดูอนาคตอันใกล้นี้เกษตรกรไทยทั่วไปจะเป็นเพียงผู้ปลูก ผู้จําหน่ายผลผลิตเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์ไปตลอด รวมทั้งต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์ ซึ่งอาจจะปรับปรุงพันธุ์ให้มีความใหม่ไม่มากไปกว่าพันธุ์ดั้งเดิมด้วย

สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้วิจัยผลกระทบจากการเข้า UPOV1991 พบว่า นอกจากการลดสิทธิเกษตรกร ขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัทแล้ว ยังทําให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธ์แพงขึ้น 2-6 เท่า วิถีชีวิตที่สืบทอดหรือมรดกของแผ่นดินไทยคือ ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารและยาในอนาคต อาจจะตกเป็นของบรรษัทจดทะเบียนผูกขาดได้ หากคิดเป็นมูลค่าก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมากมายขนาดไหน นึกได้เพียงว่าความร่ำรวยพันธุกรรมของไทยจะกลายเป็นของคนอื่นเสียแล้ว

ชวนมาลงรายละเอียดทำความกระจ่างอีกนิด กล่าวคือ UPOV ให้สิทธิคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ แต่คำว่าใหม่นั้นอาจมีการปรับปรุงพันธุ์เพียงเล็กน้อยก็เรียกว่าใหม่แล้ว ถ้าเหมารวมว่านักปรับปรุงพันธุ์ได้บางส่วนที่นำมาจากพันธุกรรมธรรมชาติแล้วคงสิทธิเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เราจะเลือกอย่างไรดี ? นอกจากนี้ขอให้เพิ่มเติมว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ดังนั้น ไทยได้เข้าร่วม UPOV อยู่แล้ว แต่เป็น  UPOV 1978 (ปี ค.ศ.1978) แต่สาระสำคัญนั้นไม่โหดร้ายหรือส่งผลกระทบต่อคนไทยมากเท่ากับ UPOV1991 ซึ่งขอขยายความอีกเล็กน้อยว่า UPOV 1978 จะคุ้มครองพืชที่มีการประกาศโดยมีอย่างน้อย 24 ชนิด และจะต้องเร่งประกาศการให้สิทธิคุ้มครองใน 8 ปี แต่  UPOV1991 จะให้สิทธิคุ้มครองพืชทุกชนิด “ย้ำทุกชนิด” และให้เวลาประกาศใน 10 ปี และขอบเขตการให้สิทธิคุ้มครองของ UPOV 1978 คือห้ามคนอื่นนำพันธุ์พืชใหม่ที่เป็นส่วน เมล็ด หัว กิ่ง ฯลฯ ไปขยายพันธุ์ แต่สิทธิใน UPOV1991 ได้เพิ่มให้ไปถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ด้วยหากผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนของพันธุ์พืชที่ได้สิทธิอันนั้น พูดง่าย ๆ ใครผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดนั้นที่เขาได้สิทธิอยู่ก็เข้าข่ายทำผิดกฏหมาย

และขอยกอีก 1 ตัวอย่าง คือ  UPOV 1978 ไม่ห้ามเกษตรกร หมอพื้นบ้านเก็บพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อได้ แต่ UPOV 1991 ห้ามนำไปปลูกต่อเด็ดขาด ใครอยากขยายพันธุ์ต่อต้องขออนุญาตเท่านั้น ซึ่งลองจินตนาการเล่น ๆก็ได้ว่า จะมีสักกี่รายที่จะได้อนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข  สิ่งนี้น่าจะทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกรและหมอพื้นบ้านซึ่งเป็นนักปลูกพืชนักขยายพันธุ์ที่สืบต่อมาแต่บรรพบุรุษไปแน่นอน

ลองนึกดูว่า สมุนไพรที่เคยประกาศไว้ในงานสาธารณสุขมูลฐานมีจำนวนถึงมากกว่า 70 ชนิด ซึ่งมีความมุ่งมั่นให้ประชาชนไทยพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ทั้งบำบัดโรคพื้นฐาน นำมาปรุงแต่งอาหาร ซึ่งชนิดของสมุนไพรเหล่านี้คนทั่วไปสามารถนำมาปลูกใช้เองได้ จึงขอนำมาให้รู้จักทั้งหมด พี่น้องชาวไทยจะได้ช่วยกันพิจารณาว่า เราจะยอมสูญเสียพันธุกรรมสมุนไพรให้กับบรรษัทใดบรรษัทหนึ่งหรือไม่  เช่น  กะเพรา กระเทียม กระวาน กระเจี๊ยบแดง กระทือ กระชาย กล้วยน้ำว้า กานพลู ข่า ข้าวกล้อง ขิง ขลู่ ขมิ้นชัน ขี้เหล็ก คำฝอย คูน ชุมเห็ดเทศ ชุมเห็ดไทย ดีปลี ตำลึง ตะไคร้ เทียนบ้าน ทองพันชั่ง ทับทิม น้อยหน่า บอระเพ็ด บัวบก ปลาไหลเผือก ฝรั่ง ผักบุ้งทะเล เพกา พญาปล้องทอง พลู ไพล ฟักทอง ฟ้าทะลายโจร มะเกลือ มะขาม มะขามแขก มะคำดีควาย มะนาว มะพร้าว มะแว้งเครือ มะแว้งต้น มะละกอ มะหาด มังคุด ถั่วพู ถั่วเหลือง ยอ ย่านาง เร่ว เล็บมือนาง ว่านหางจระเข้ สะแก สับปะรด เสลดพังพอน สีเสียดเหนือ หญ้าคา หญ้าหนวดแมว แห้วหมู อ้อยแดง คำแสด เตย ฝาง อัญชัน

สมุนไพรเหล่านี้ ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายในกลุ่มที่ประชาชนทั่วไปเป็นกันบ่อย ๆ และสามารถดูแลตนเองได้ เช่น อาการตัวร้อนเป็นไข้ ท้องเสียท้องเดิน ท้องผูก แก้ไอเจ็บคอ แก้เคล็ดขัดยอกและโรคผิวหนังต่างๆ ฯลฯ ซึ่งตรงตามกับแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ของ นพ.อมร นนทสุต  ผู้ซึ่งเพิ่งจากไปไม่นานนี้ คือเป็นผู้วางรากฐานงานสาธารณสุขมูลฐาน ผู้ส่งเสริมการป้องกันมากกว่ารักษา และเป็นหมอที่เข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างยิ่งด้วย

บางคนว่าให้ไปเจรจาต่อรอง CPTPP ก่อน อย่าไปปิดโอกาส แต่ขอให้ข้อมูลว่าประเทศอื่นๆ ที่ร่วมแล้วยังไม่มีประเทศไหนหลุดพ้นจาก UPOV 1991 ได้สักราย อย่างดีก็ขอเลื่อนเวลารอถูกจับบังคับใช้อยู่ดี  เมืองไทยจะเสี่ยงภัยเข้า CPTPP และ UPOV 1991 หรือ ?