ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเกษตรพื้นบ้าน : พิธีผูกเสี่ยวกับปู (9)

โพสต์ที่แล้วแอดมินเขียนถึงเรื่องการทำนาให้ผีตาแฮก จะว่าไปเป็นกลยุทธ์หรือภูมิปัญญาล่อหลอกแมลง
เป็นภูมิปัญญาที่มีความแยบยลจริงๆ

หลังจากชาวนาดำนาแล้ว ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง ศัตรูข้าวอันดับหนึ่งก็ปรากฏตัว…คือ ปูนา
ปูนาศัตรูตัวฉกาจของนาข้าวจะทำลายต้นข้าว โดยไปกัดกินในส่วนของต้นกล้าข้าว จะทำให้ต้นกล้าไม่โตหรือตายในที่สุด
ปูนา ศัตรูของนาข้าวแต่เอามาทำเป็นปูเค็ม…ใส่ในส้มตำ อร่อยมากๆ รสชาติของปูเค็มที่ทำจากปูนามีความกลมกล่อมกว่าปูเค็มที่ทำจากปูแสม….อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ
ปูเค็มที่ใส่ในส้มตำส่วนใหญ่ทำจากปูแสมที่จับมาจากป่าชายเลน

กลับมาคุยเรื่องปูนากันต่อ…
เมื่อปูนาเป็นศัตรูมากัดกินต้นข้าวของเรา
เราจะกำจัดปูนาอย่างไร?
คนอีสานบอกว่าจัดการง่ายมาก …ยิงปืนนัดเดียวได้ปูนามากินทั้งนา

ภูมิปัญญาอีสานเรียกว่า “พิธีผูกเสี่ยวกับปู”
เรานำไหปากแคบขนาดเล็กไปฝังตามคันนา แล้วนำข้าวเหนียวนึ่งใส่ลงไปในไห เพื่อเรียกให้ปูเข้าไปกินข้าวในไห
เมื่อปูนาลงไปอยู่ในไหแล้วจะไม่สามารถคลานขึ้นมาได้ เป็นภูมิปัญญากำจัดปูนาแบบง่ายๆ นาข้าวไม่เสียหาย ได้ปูนามาทำเป็นอาหารอีกด้วย

ปัจจุบันเกษตรกรบางคนใช้ยาฆ่าปู ทำให้ปูมีสารพิษปนเปื้อน เมื่อนำมาทำอาหาร ส่งผลให้คนกินอาหารได้รับสารพิษไปด้วย

เห็นมั้ยคะว่า…การกำจัดปูนา เป็นภูมิปัญญาคนอีสานที่แฝง ไปด้วยเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้สารเคมี และสุขภาพของชาวนา

ลองคิดเล่นๆ นะคะ…ลองคิดตาม ถ้าเราใช้สารเคมีฆ่าปูนาในนาข้าว
ปูนาตายทั้งหมด ชาวนาและเราเองก็อาจจะตายด้วย แม้ว่าจะยังไม่ได้ตายในทันที แต่ส่งผลในระยะยาว
หากชาวนาใช้สารเคมีฆ่าปูนาบ่อยๆ และจับปูนาที่ตายเพราะสารเคมีมาขาย ก็จะสะสมสารเคมีนั้นอยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งเราเองไม่มีทางรู้ว่า สารเคมีที่เราสะสมไว้จะออกดอกออกผลเป็นโรคภัยไข้เจ็บเมื่อไหร่
หากเราบังเอิญกินปูนาที่ตายเพราะสารเคมี..เราก็จะได้รับสารเคมีนั้นมาสะสมในร่างกายของเราด้วย
ที่เล่าเรื่องปูนา..ไม่ได้จะทำให้กลัว..ไม่กล้ากินปูนานะคะ แต่มันคือเรื่องจริงค่ะ!

มีข้อสังเกตว่า ภูมิปัญญามักจะอิงกับสิ่งแวดล้อม…ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วว่า เราต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม
เราจะอยู่รอดได้ สิ่งแวดล้อมก็ต้องปลอดภัย ..ตัวเรานี่แหละที่ต้องดูแลและจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดี

#มูลนิธิสุขภาพไทย #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน #ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการเกษตร
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.