ยาหอมคู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่าด้วยอายุสมุฏฐานกล่าวว่า คนยามปัจฉิมวัยหรือคนแก่ เป็นช่วงวัยที่”เลือดจะไปลมจะมา” และปัญหาที่ตามมากับลม คือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามคำโบราณที่ว่า”หมอแพทย์ว่าโรคร้าย ลมคลุม” แล้วโรคที่มากับลมหรือวาตะพิการก็ได้แก่ โรคหัวใจที่เกิดจากหทัยวาตะกำเริบ อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม อันเกิดจากลมพัดทั่วสรรพางค์กายไม่สม่ำเสมอ(ซึ่งเรียกตามศัพท์แพทย์แผนไทยว่า ลมอังคมังคานุสารีวาตา) รวมทั้งอาการจุกเสียดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ล้วนเกิดจากอุทรวาตะหรือระบบลมในร่างกายไม่ปกตินั่นเอง

ภูมิปัญญาแพทย์ไทยแต่โบราณจึงร่ำรวยด้วยยาแก้โรคลมไม่น้อยกว่า 300 ตำรับ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่เป็น”ยาหอม”ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ตำรับ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับสรรพคุณ คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ และยาหอมนวโกฐ ตำรับยาหอมนี้ยังได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศขึ้นเป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชียาเหล่านี้หากไปใช้สิทธิสวัสดิการทั้งราชการ ประกันสังคม และบัตรทองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็สามารถเบิกจ่ายในสิทธิประโยชน์ได้

ยาหอมเหล่านี้มีสรรพคุณคล้ายคลึงกัน เพราะมีโครงสร้างองค์ประกอบใกล้เคียงกัน ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรหลัก ที่มีกลิ่นหอม รสสุขุม หรือรสหอมเย็น อันเป็นที่มาของชื่อ ยาหอม ได้แก่ กฤษณา กำยาน กระลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้ เปลือกชะลูด อบเชย แฝกหอม พิกัดโกศ 9 เทียน9 และพิกัดดอกไม้ เป็นต้น สมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์แก้กองลมละเอียด(สุขุมาวาตา)ให้เป็นปกติ เช่น ลมหล่อเลี้ยงหัวใจ ลมหมุนเวียนทั่วร่างกาย กลุ่มสมุนไพรปรับธาตุให้สมดุลย์ ได้แก่กลุ่มสมุนไพรปรับธาตุ 4 ที่มีรสร้อน คือพิกัดเบญจกูล ประกอบด้วย ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง และกลุ่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย คือพิกัดตรีผลา มีสมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อมกลุ่มสมุนไพรเสริมการปรับธาตุลมหยาบเพื่อช่วยแก้อาการลมจุกเสียดท้อง แน่นหน้าอก ได้แก่ กระวาน กานพลู กระชาย เปราะหอม ข่าต้น สมุลแว้ง เป็นต้น

ยาหอมทั้ง 4 ตำรับ จะประกอบด้วยสมุนไพรทั้ง 3 กลุ่ม ใกล้เคียงกันโดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน แต่ในสูตรยาหอมแต่ละตำรับจะเพิ่มสมุนไพรบางตัวเพื่อเน้นสรรพคุณเด่น ยกตัวอย่างเช่นยาหอมเทพจิตร จะมีดอกมะลิตัวเดียว เป็นครึ่งหนึ่งของทั้งตำรับ และบวกด้วยผิวส้ม 8 อย่าง ซึ่งนอกจากจะแก้ลมวิงเวียน สวิงสวาย แล้วกลิ่นหอมระเหยของดอกมะลิและผิวส้มยังช่วยให้ดวงจิตร์แช่มชื่น สดใส คลายความรู้สึกเครียด ซึมเศร้า เหงาหงอย ซึ่งมักเกิดกับคนในวัยชรา หรือคนทุกวัยที่ถูกทอดทิ้ง รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

ยาหอมทิพโอสถ ยังมีสมุนไพรบำรุงกำลังคือหัวแห้วไทยและกระจับ มีสมุนไพรบำรุงเลือด เช่น ดอกคำไทย ฝางเสน ยาหอมตำรับนี้เมื่อละลายกับน้ำดอกไม้ จะช่วยให้สตรีคลายความหงุดหงิด ฉุนเฉียวในช่วงก่อนมีประจำเดือน รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำสุก
ยาหอมอินทจักร์ เสริมสมุนไพรรสขม ฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อน ผ่อนพิษไข้ คลายร้อนใน บำรุงน้ำดีแก้อาการกลัดกลุ้มคลุ้มคลั่งได้ เช่น บอระเพ็ด ลูกกระดอม รากหญ้านาง ดีวัว เป็นต้น มีรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมอินทจักร์ ช่วยเพิ่มความแรงการบีบของหัวใจ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อยซึ่งช่วยขยายหลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำกระสายยา น้ำกระสายยาที่ใช้ กรณีแก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ กรณีแก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก กรณีแก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม

ยาหอมนวโกฐ จุดเด่นของยาหอมตำรับนี้คือ มีโกศ 9 เทียน 9 ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้หลับสบาย มีคนไข้บางรายแพทย์วินิจฉัยเป็นโรคบ้านหมุน แม้ใช้ยาฉีดรักษาก็ไม่หาย ต่อมาได้รับยา หอมนวโกฐจากแพทย์แผนไทย อาการบ้านหมุนจึงหายเป็นปลิดทิ้ง รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำกระสาย ซึ่งน้ำกระสายยาที่ใช้กรณี แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ ใช้น้ำลูกผักชี (15 กรัม) หรือเทียนดำ (15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา กรณีแก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการเช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) ใช้ก้านสะเดา (33 ก้าน หรือ 15 กรัม) ลูกกระดอม (7 ลูก หรือ 15 กรัม) และเถาบอระเพ็ด (7 องคุลี หรือ 15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน

ตอนนี้ผู้สูงอายุไทยกำลังเพิ่มปีละ5 แสนคน คาดว่าปี 2568 ไทยแลนด์จะก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” คือทุกๆประชากร 5 คนจะมีคนอายุเกิน 60 ปี หนึ่งคน ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของเรามียา หอมดีๆสำหรับผู้สูงอายุ จึงควรพัฒนาสูตรตำรับและคุณภาพยาหอมไทยต่อยอดจากที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี2545 แล้วหยุดไป เพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุของไทยและอาจจะนำไปใช้กับผู้สูงอายุทั่วโลกด้วยก็ได้ ยาหอมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา นอกจากดูแลสุขภาพประชาชนถ้วนหน้าได้แล้ว หากเราส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการจำหน่าย ยาหอมจะช่วยสร้างเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับคนไทยไม่น้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เตือน “ผู้สูงอายุ” ระวัง “ยา” ลวงโลก

admin 6 เมษายน 2019

พออายุมากขึ้น สารพัดโรคก็จะมาเยือนอย่างกับนัดกันไว้ ไม่ […]

เภสัชเตือน ′ผู้สูงอายุ-คนป่วย′ บริโภค′กระเทียม′ แต่พอเหมาะ

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญ […]

รู้จักคิดบวกในผู้สูงอายุ ได้ผลกว่าออกกำลัง

admin 6 เมษายน 2019

นักวิจัยค้นพบยาขนานเอกที่จะช่วยผู้สูงอายุคงความกระฉับกร […]