“ย่างไฟ” ใจกลางกรุง

 

 

 

 

 

 

การย่างไฟ เป็นความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่พบได้ในชุมชนภาคอีสานของไทย  จากการเก็บความรู้ของเครือข่ายหมอพื้นบ้านอีสาน 7 จังหวัดร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทยตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน พบว่าการย่างไฟ คือ กระบวนการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ช่วยให้หายไวขึ้น และป้องกันเลือดตกในหรือเลือดคั่งค้าง ซึ่งในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมชาวบ้านที่ตกต้นไม้ ถูกชนจากสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย ฯลฯ ก็จะนำผู้ป่วยมาทำการย่างไฟ แต่ในปัจจุบันคนที่ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือจักรยานยนต์ก็ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้บำบัดรักษาได้เช่นกัน

เมื่อมีความรู้ดี ๆ จากชุมชนอยู่กับมูลนิธิสุขภาพไทยก็เลยได้นำมาใช้ประโยชน์  เหตุการณ์ประมาณกลางเดือนธันวาคมปีกลาย เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ท่านหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถชนกัน ยังดีมีแต่คนเจ็บไม่มีใครเสียชีวิต อาการบาดเจ็บจากแรงกระแทกไปถึงหน้าอก รวมทั้งอาการฟกช้ำตามร่างกาย เช่น หัวไหล่ สะโพก ขาหนีบ หน้าขา หน้าแข้ง ก็ค่อย ๆ ปวดระบมในวันหลังเกิดเหตุ

ก่อนวันสิ้นปี น้องๆ ในสำนักงานจึงนำเสนอแพ็กเกจ “ย่างไฟ” ขึ้นที่สำนักงานมูลนิธิ ยกภูมิปัญญาอีสานมาไว้กลางเมืองหลวง กระบวนการย่างไฟนั้น ควรทำในตอนกลางวัน ในพื้นที่โล่งใต้ร่มไม้หรือชายคา อุปกรณ์สำคัญคือ แคร่ไม้ไผ่ให้คนเจ็บได้นอน ที่สำนักงานมูลนิธิไม่มีแคร่จึงประยุกต์ใช้ม้านั่งยาวยกมาใช้ ซึ่งมีลักษณะต้องตามตำรา คือ เป็นไม้ซีก ๆ เพื่อให้ความร้อนผ่านถึงได้ (ถ้าเป็นแคร่ก็ควรมีร่องห่างให้ความร้อนผ่านได้)

สูตรสมุนไพรของหมอพื้นบ้าน ซึ่งเคยรวบรวมไว้มีถึง 8 ตำรับ มาจากหมอพื้นบ้านในภาคอีสาน เช่น มหาสารคาม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ และสุรินทร์ เป็นต้น ขอยกตัวอย่างสัก 2 ตำรับ คือ 1) ตำรับบ้านเชียงเหียน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ตัวยาได้แก่ ใบและยอดเปล้าน้อย ใบและยอดหนาด ใบและยอดมะขามเปรี้ยว ตะไคร้หอมใช้ทั้งต้น ไพล(ใช้ทั้งต้นหรือใช้เฉพาะหัวก็ได้) ขมิ้นชัน((ใช้ทั้งต้นหรือใช้เฉพาะหัวก็ได้) ต้นเหมือดแอ๋ (ใบและยอด) ใบพลับพลึง  สมุนไพรทั้งหมดนี้นำมาอย่างละเท่า ๆ กัน และนำข้างเปลือก(ทางอีสานจะหาข้าวเหนียวได้ง่ายก็ใช้ข้าวเปลือกข้าวเหนียว) 20 ลิตรหรือประมาณ 1 ถัง

ตำรับที่ 2 จากหมอพื้นบ้านอำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์ มีตัวยาคือ ใบเปล้าใหญ่ ใบเปล้าน้อย ใบหนาด ใบละหุ่ง ใบมะขามเปรี้ยว ใบพลับพลึง ตะไคร้หอมใช้ทั้งต้น  เถาเอ็นอ่อน (ใช้ทั้งเถา ใบและยอดด้วยก็ได้) เปลือกต้นแดง(ทุบให้แตก) หัวไพล และข้าวเปลือกข้าวเหนียวเช่นกัน

วิธีการใช้ ไม่ว่าจะเป็นสูตรตำรับไหนก็จะทำคล้าย ๆ กัน คือ นำสมุนไพรทั้งหมดมาในอัตราส่วนเท่าๆ กัน เช่น อย่างละ 1 กิโลกรัม นำมาสับหรือหั่นให้เป็นชิ้น ๆ แล้วคลุกเคล้า เวลาผสมกันให้ใส่ข้าวเปลือกลงไปผสมด้วย

ขั้นตอนการย่างไฟ เตรียมแคร่ เตรียมสมุนไพร ก่อไฟ ถ้าทำในชุมชนมักจะใช้ฟืนจากไม้สมุนไพร เช่น มะขามป้อม ขี้เหล็ก สะแกนา มะขาม ซึ่งเป็นไม้ที่ให้ไฟร้อนสม่ำเสมอ แล้วหาแผ่นสังกะสียาววางไว้ใต้แคร่ เพื่อนำเอาฟืนติดไฟหรือถ่านเกลี่ยให้ทั่วสังกะสีให้ความร้อนส่งไปทั่วแคร่นั่นเอง แต่ทางมูลนิธิประยุกต์เพราะไม่มีแผ่นสังกะสี ใช้เตาถ่าน 3 ใบ จึงก่อไฟด้วยถ่านไร้ควัน วางเตาเว้นระยะตั้งแต่หน้าอกถึงเท้า

จากนั้นวางสมุนไพรที่สับเป็นชิ้น ๆ ลงบนแคร่ให้ทั่ว แล้ววางผ้าหรือเสื่อทับลงไปที่สมุนไพรต่างๆ ขอแนะนำเสื่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เสื่อกก ไม่ควรใช้เสื่อพลาสติก  แล้วต้องพรมน้ำให้ชุ่มเสื่อ ความชื้นจะเป็นตัวนำความร้อนและสมุนไพรมาสัมผัสผิวของผู้ป่วย ก่อนทำการย่างไฟ ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ผู้ย่างดื่มเหล้าขาวผสมน้ำตาลทรายแดง กินไม่มากนะ แค่ถ้วยเล็ก ๆ ประมาณ 30 – 40 ซีซีเท่านั้น เพื่อให้เลือดลมในร่างกายหมุนเวียน เป็นการปรับธาตุร่างกาย และเป็นยาดั้งเดิมที่ใช้แก้อาการช้ำในด้วย บางคนที่ไม่ดื่มสุราจะไม่กินก็ได้

ก่อนการย่างควรอาบน้ำอุ่นหรือน้ำต้มใบมะขามและใบหนาด แต่ถ้าผู้ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลต้องระวังอย่าให้น้ำถูกแผลจะทำให้แผลแห้งช้า หลังอาบน้ำควรใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อการระบายอากาศ ให้นอนบนเสื่อบนแคร่ แล้วหาผ้าห่มหรือผ้าคลุมตั้งแต่คอถึงเท้า ในชุมชนอีสานจะใช้ผ้าย้อมครามผืนใหญ่มาห่มคลุม เพราะผ้าครามช่วยระบายความร้อนได้ดีไม่ทำให้ผู้ย่างไฟอึดอัด

การนอนย่างไฟควรให้มีคนเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เพื่อประเมินความร้อนว่ามากหรือน้อยไป หากมากไปจะเกิดผิวหนังพองได้ แต่ถ้าไม่ร้อนเลยสรรพคุณสมุนไพรก็ไม่ส่งผลต่อผู้ย่างไฟนั่นเอง การเฝ้าดูนี้ยังช่วยในการพรมน้ำที่เสื่อให้ชุ่มอยู่เสมอเป็นการช่วยกระจายความร้อนด้วย การย่างไฟในชุมชนจึงเป็นสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวรวมไปถึงเพื่อนบ้านที่มาช่วยกัน ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยถึงผู้ประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้หมอพื้นบ้านยังทำพิธีสู่ขวัญหรือช้อนขวัญหรือการสะเดาะเคราะห์ให้ด้วย ซึ่งวิถีเป็นวัฒนธรรมสุขภาพแบบองค์รวมที่รักษากายและใจไปพร้อมกัน

ที่กลางกรุงเมืองหลวง ชาวมูลนิธิสุขภาพไทยหลายคนรับเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมอันงดงาม แสดงความห่วงใยจึงจัดทำการย่างไฟให้ถึง 3 รอบ แม้ว่าจะหาสมุนไพรได้ไม่ครบสูตร แต่ก็ได้สมุนไพรใกล้ตัวสำคัญ ๆ คือไปเด็ดใบมะขามจากสวนหน้าสำนักงาน เก็บใบพลับพลึงมาจากบ้าน และไปตลาดซื้อเพียงหัวขมิ้นชัน หัวไพล และต้นตะไคร้ รวม 5 ชนิดก็ได้สรรพคุณดีและมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยบรรเทาอาการเจ็บระบมของผู้รับอุบัติเหตุได้อย่างดี เสมือนของขวัญปีใหม่อย่างดีเยี่ยม.