“รกที่ออกจากท้องแม่พร้อมๆ กับเรา”

ปัจจุบันผู้หญิงท้องไปฝากครรภ์และคลอดลูกที่โรงพยาบาล “รก” ที่เกิดจากการคลอดลูกทางโรงพยาบาลเป็นคนจัดการ
แต่ในอดีตการคลอดลูกกับหมอตำแยนั้น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนท้องหรือแม่มาน จะเป็นเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่อ

วันนี้แอดมินชวนเล่าเรื่อง “รก”
เมื่อแม่คลอดเด็กออกมาแล้วหมอตำแยจะตรวจคลำท้องแม่ เพื่อเอารกออกจากท้องแม่ เราเรียกว่า “การทำคลอดรก”
โดยเอามือโกย ถ้าคลำท้องแม่แล้วรู้สึกยังแข็ง แสดงว่ารกยังไม่ออก
ถ้าคลำแล้วท้องนิ่มแสดงว่ารกออกแล้ว
ให้แม่เบ่งรกออก แล้วเอามือข้างหนึ่งค่อยๆกดหน้าท้อง มืออีกข้างหนึ่งรองรับรกบริเวณช่องคลอดแล้วหมุนนำรกออก

เข้าใจมาตลอดว่า เวลาเด็กเกิดใหม่ หมอตำแยเอารกไปฝังดินได้เลย
เพิ่งเข้าใจในวันนี้ว่า การเกิดใหม่ เป็นพิธีกรรมย่อมๆ เลยล่ะ

เวลาหมอตำแยจะตัดสายรก…ก่อนตัดจะท่องคาถาว่า “โอมอัด ตัดปิด แฮอุด” 3 จบแล้วเป่าไปที่สายรก แล้วใช้ติวไม้ไผ่หรือเปลือกหอยกาบตัดสายรกเด็กตรงบริเวณเปราะที่สอง

มัดสายรกด้วยด้ายที่ย้อมคราม การใช้ด้ายย้อมครามจะช่วยทำให้สายสะดือหลุดง่าย ช่วยสมานแผลและช่วยป้องกันบาดทะยักได้

ส่วน รก นั้น เอาไปจัดการอย่างไรต่อ?
การฝังรก เป็นพิธีที่คนอีสานให้ความสำคัญ โดยรกจะไม่ถูกทิ้งไปแบบไม่สนใจ เมื่อตัดสายรกเสร็จแล้ว ก่อนนำไปฝัง
เราต้องนำรกไปล้างน้ำน้ำอุ่นและนำเกลือมาโรยหมักแล้วนำไปห่อด้วยใบตองหรือนำรกใส่ในหม้อดิน

จากนั้นนำรกไปฝังใต้บันไดบ้าน เป็นการฝังเอาเคล็ดว่าไปไหนมาไหนแล้วให้รู้จักกลับมาบ้าน
ความเชื่อของคนอีสานเชื่อว่า การฝังรกใต้บันไดบ้าน ถือว่าได้ฝากลูกไว้กับพระแม่ธรณีและแม่บันไดจะทำให้เด็กรักพ่อแม่ รักบ้านรักเรือน รู้บุณคุณ ไม่ลืมบ้านเกิดของตนเอง

เมื่อฝังรกเสร็จแล้ว เราจะสานไม้ไผ่รูปดาว เรียกว่า ตะแหลวปักบนหลุมฝังรก แล้วก่อกองไฟบนหลุมฝังรก เผาอยู่อย่างนั้น จนกว่าแม่จะออกไฟ เป็นการแก้เคล็ด เชื่อกันว่าจะป้องกันการรบกวนภูตผีปิศาจมารบกวนทารกกับแม่

จะเห็นว่า เพียงแค่เรื่องของ “รก” แต่ละขั้นตอนมีเหตุผล-ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ