รางวัลระพีวิจัยครั้งแรกเป็น “ด็อกเตอร์” กับ “ชาวนา”

นายสัตวแพทย์ ยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานชมรมลูกศิษย์ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน 90 ปี ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ในวันที่ 15 ธ.ค. พ.ศ.2555 โดยกล่าวว่า ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกล้วยไม้ ที่ได้คิดค้นวิธีที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถเพาะปลูกและทำเป็นอาชีพได้อย่างแพร่หลาย จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก และยังเป็นผู้นำทางด้านความคิด เป็นผู้นำในการพัฒนาการเกษตร โดยให้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ีงในงานวันกังหล่าว จะมีกิจกรรมหลักๆ 2 รายการ คือ ในเวลา 9.00 – 12.30 น. จะมีงานเสวนาวิชาการ การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 6/7 “สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง(Media for Chances)” เป็นเวทีวิชาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้จะได้มีการมอบรางวัลระพีวิจัยเป็นครั้งแรก รางวัลนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก โดยในรางวัลระพีวิจัยประจำปี 2555 เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาที่อุทิศตนให้กับชุมชนและสังคมไทย ภายใต้ทิศทางที่มุ่งไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกย่องและเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการ นักวิชาการ นักพัฒนา และชาวบ้าน ที่อุทิศตนแก่การทำงานเพื่อสังคมเฉกเช่นที่ศ.ระพี สาคริก ได้ดำเนินมาเป็นแบบอย่างตลอดระยะเวลาการทำงาน ปีนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับเกียรติเพื่อรับมอบรางวัลดังกล่าวจำนวน 2 ท่านคือ ดร.เสริมลาภ วสุวัต และนายแดง หาทวี.

สำหรับประวัติ “ดร.เสริมลาภ วสุวัต” ที่ได้รับรางวัลระพีวิจัยครั้งแรกครั้งนี้ เป็นข้าราชการบำนาญซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร และต่อมาได้เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมเรื่องบัวของประเทศไทยและได้รับการยอมรับทั่วโลก จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขากสิกรรมและสัตวบาล และต่อมาได้รับทุนจากองค์การUSOM ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาพืชไร่และพืชสวน ที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ และได้รับทุนจากรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกาให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาโรคพืชและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา ท่านตัดสินใจที่จะนำความรู้จาการการศึกษามาทำงานในบ้านเกิดมากกว่าจะทำงานในต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับแผ่นดินเกิดและไม่ต้องการอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ

ส่วนผู้ทืี่ได้รับรางวัลระพีวิจัยคนที่ 2 คือ “นายแดง หาทวี” เป็นครอบครัวชาวนาแห่งบ้านบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ซี่งนายแดงทดลองการทำนาโดยวิถีชีวภาพขึ้นในผืนนาของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี ทดลองผสมพันธุ์ข้าวด้วยตนเองระหว่างข้าวเหนียวที่ให้ผลผลิตสูงกับข้าวเหนียวรสชาติดี ทดลองปลูกข้าวแบบต้นเดียวในระยะที่แน่นอน ทำน้ำหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่ได้จากท้องถิ่น และฉีดยาป้องกันแมลงที่ทำจากน้ำหมักสมุนไพรที่ทำขึ้นเอง ส่วนศัตรูพืชเช่นหอยเชอรี่นั้นใช้วิธีเดินเก็บเพื่อนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ อีกทั้งยังได้ร่วมกับเพื่อนบ้านรักษาระบบนิเวศบุ่งทามให้อุดมสมบูรณ์ไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งผลผลิตข้าวแบบชีวภาพโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรของพ่อแดงนั้นได้ผลผลิตสูงถึง 1,500 – 2,000 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยข้าวของประเทศประมาณ 4 เท่าตัว ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าแรงน้อยมาก ประมาณ 300-600 บาท/ไร่เท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขต้นทุนการทำนาของชาวนาไทยไม่รวมค่าแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท/ไร่/ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของพื้นที่นาข้างเคียงซึ่งอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันประมาณ 3 เท่าตัว

ที่มา เรื่องและภาพประกอบ : เดลินิวส์ออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไส้เดือนให้ลาภ สร้างเงินชาวนานครพนม นับล้าน

admin 4 เมษายน 2019

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม หลังอุณหภูมิลดลงส่งผล […]