รามาฯทำระบบตรวจยีนแพ้ยาคนไทย

ภก.ดร.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ และหัวหน้าสาขาวิชาเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.รามาฯ ได้มีการจัดทำบัตรสารพันธุกรรมแพ้ยา ซึ่งจะมีคำแนะนำเรื่องการใช้ยาสั้นๆ ให้กับผู้ป่วยแต่ละคนนำไปใช้ในกรณีที่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทั่วประเทศ หรือแม้แต่การไปซื้อยารับประทานเองที่ร้านขายยา แต่การใช้บัตรดังกล่าวจะต้องใช้ควบคู่กับใบรายงานผลการตรวจร่างกาย เนื่องจากเร็วๆ นี้องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายงานการแพ้ยากันชักสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งจากการที่ตนได้ทำการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของประชากรตัวอย่างในโครงการวิจัยหาสารพันธุกรรมแพ้ยาชนิดรุนแรง จำนวน 300 คน พบว่ามีประชากรตัวอย่าง 18% ที่มีสารพันธุกรรมแพ้ยากันชัก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ จึงพบว่าประชากรไทยมีสารพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการแพ้ยาหลายชนิด เช่น ยาแอนตี้ไบโอติก ยากันชัก ยาต้านเอชไอวี กลุ่มยาต้านโรคเกาต์ เกิดผื่นแพ้ยา นอกจากนี้ยังมีโอกาสแพ้จากขนาดยาอีกหลายตัวอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการตรวจแบบนี้ และเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุการตรวจหาสารพันธุกรรมแพ้ยาชนิดรุนแรงไปในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง แต่เป็นโครงการนำร่องใน กทม. ในกรณีการแพ้ยากันชักชนิดหนึ่ง

ภก.ดร.ชลภัทรกล่าวต่อว่า การแพ้ยาชนิดรุนแรงจะมี 2 ลักษณะคือ เนื่องจากสารพันธุกรรมแพ้ยาบางชนิดโดยตรง โดยผู้ที่มีสารพันธุกรรมแพ้ยาชนิดรุนแรง หรือสตีเวนส์จอนสัน ซินโดรม จะมีลักษณะคล้ายแผลไฟไหม้ลามทั้งตัว และเยื่อบุตาอักเสบจนกระทั่งมีโอกาสตาบอด หรือว่าเยื่อบุช่องปากอักเสบ เป็นแผลพุพอง คนไข้กินไม่ได้ และคนไข้หลายรายจบด้วยการสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตในที่สุด แบบที่ 2 คือ เกิดจากสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับขนาดของการใช้ยา ซึ่งตามปกติแพทย์จะสั่งให้คนไข้รับประทานยาในขนาดมาตรฐาน แต่ลักษณะการขับยาออกจากร่างกายของคนเราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุกรรมของแต่ละคน เพราะฉะนั้นหากให้ทุกคนกินยาในปริมาณที่เท่ากัน บางคนที่ร่างกายขับยาออกได้น้อยก็มีโอกาสที่ยาสูงขึ้นในกระแสเลือด และส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นการตรวจสารพันธุกรรมแพ้ยาจะสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนควรรับประทานยาขนาดเท่าไหร่

“ที่สำคัญคือแพทย์-เภสัชกรจะต้องมีความรู้ในเรื่องเภสัชพันธุศาสตร์ด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาที่แพทย์หรือเภสัชกรยังไม่มีความรู้เรื่องเภสัชพันธุศาสตร์มากพอ ที่จะใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมในการระบุหรือปรับขนาดยาให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน เชื่อว่าอนาคตจะมีการพัฒนาบัตรดังกล่าวให้มีลักษณะคล้ายกับสมาร์ทการ์ดที่มีข้อมูลสารพันธุกรรม พร้อมการแปลผล และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ อยู่ในบัตรนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ทางคลินิกไม่ได้ตรวจสารพันธุกรรมและออกบัตรดังกล่าวให้กับผู้ป่วยทุกราย ผู้ที่จะได้รับการตรวจต้องได้รับการประเมินความคุ้มค่าก่อน”

ที่มา : ไทยโพสต์ 27 ม.ค.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

“แมลงวัน” ตัวแพร่ “ยีนดื้อยาอันตราย”

admin 6 เมษายน 2019

รายงานพิเศษ นสพ.คมชัดลึก วงการแพทย์ทั่วโลกเร่งวิจัยสืบค […]