รู้ทันกัญชา แม้ปลดล็อคจากยาเสพติด แต่ยังมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท

 

เมื่อ 35 ปีก่อน มูลนิธิสุขภาพไทยเคยทำหนังสือ “ข่าวสารสมุนไพร” ราย 3 เดือนออกมาหลายเล่มภายใต้โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ทุกเล่มต้องจั่วคำเตือนตัวโตๆในหน้าแรกว่า “สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้” สมุนไพรทุกตัวที่ขึ้นปก แม้จะเป็นพืชผักสวนครัวหรือผลไม้ ที่บริโภคกันเป็นประจำก็ตาม แต่ “ข่าวสารสมุนไพร”ก็จะให้ข้อมูลด้านที่เป็นโทษด้วยอย่างละเอียด

โมเมนต์นี้ ไม่มีสมุนไพรตัวไหนเป็นทอล์ค ออฟเดอะทาวน์และสร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทยได้มากเท่ากัญชาในประเด็นผลกระทบต่อจิตประสาทหากใช้ส่วนที่เป็นสารเมาของกัญชามากเกินขนาด เป็นที่รู้กันดีว่าสารสำคัญของกัญชามี 2 ชนิดคือ สาร THC (Tetrahydrocannabinol) และสาร CBD (Cannabidio) สาร THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychoactive) ทำให้อาการเมาเคลิ้ม หรือไฮ(high) หากใช้มากทำให้เสพติดตรงกันข้ามกับสาร CBD ซึ่งไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใดๆ เลย (non-psychoactive)

ภายหลังเมื่อคุณหมอราฟาเอล เมคูลัมบิดากัญชาทางการแพทย์ยุคใหม่ยืนยันว่า สาร THC ในพืชกัญชามีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับแคนนาบินอยด์ในร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของทุกระบบสรีระของมนุษย์ซึ่งยังต้องมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์อีกมาก องค์การสหประชาชาติจึงถอดกัญชาออกจากยาเสพติดร้ายแรงที่เคยอยู่ในระดับเดียวกับฝิ่นและเฮโรอิน โดยคงไว้แต่การควบคุมสารเมา THC ไม่ให้ใช้เกินขนาด 0.2 %

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายในแต่ละประเทศที่ตีความแตกต่างกันเพื่อให้สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด โดยไม่ให้ผิดกติกาโลกและทำลายศีลธรรมอันดีในสังคม ขณะนี้เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรียิ่งกว่าประเทศใด เพราะปลดล็อคกัญชาในสภาวะสูญญากาศ โดยที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม ไทยแลนด์จึงกลายเป็นแดนสวรรค์ของแฟนคลับมารีฮวนน่าจากทั่วโลก (ขำกันออกหรือไม่ ?)

อันที่จริง ด้านดีของสาร THC ก็มีมากที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลกคือ ช่วยรักษาโรคทางระบบประสาททั้งในเด็กและผู้สูงอายุได้ เช่น กลุ่มอาการโรคลมชักที่ซับซ้อนในเด็ก โรคพาร์กินสัน ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุมีอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้าลง โรคความจำเสื่อม บรรเทาอาการปวดเรื้อรังทั้งจากมะเร็งและการปวดปลายประสาทในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ดีขึ้น เป็นต้น สาร THC ที่เป็นยาจึงต้องมีแนวปฏิบัติในการใช้เพื่อการแพทย์ให้เป็นประโยชน์ และลดผลข้างเคียงหรืออาการที่ไม่พึ่งประสงค์

ถ้าฝรั่งเป็นบิดากัญชาทางการแพทย์ยุคใหม่ คนไทยก็ควรได้สมญาเป็นเป็นบิดากัญชาทางการแพทย์ยุคโบราณ เพราะหมอไทยเรามีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างน้อยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่น้อยกว่า 360 ปีมาแล้ว ณ พ.ศ.นี้เราสามารถรวบรวมตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชาได้ถึง 162 ตำรับ มีสรรพคุณครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มอาการโรค รวมทั้งโรคเฉพาะทาง เช่น โรคลมในผู้สูงอายุ โรคเด็ก โรคสตรี โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น

ภูมิปัญญากัญชาไทยในอดีตบันทึกไว้ชัดเจนว่า กัญชามีสรรพคุณทางด้านจิตประสาท คือ แก้อาการตัวสั่น เสียงสั่น และแก้นอนไม่หลับ และการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยต้องใช้ประกอบกับสมุนไพรตัวอื่น ในที่นี้ขอกล่าวตำรับยาในคัมภีร์ชวดาร ที่เข้ากัญชารักษาตานทรางหรือแก้ไข้ ตัวผอมเหลืองพุงโรในเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแพทย์แผนไทยแต่โบราณท่านสามารถใช้ตำรับยาเข้ากัญชาแทรกฝิ่นเล็กน้อยรักษาโรคเด็กได้ดังนี้ “ยาแก้ตานทรางกินข้าวไม่ได้ กินนมมิได้ มิให้นอนมิหลับ เอา ถั่วพู โกฐ กัญชา น้ำตาลทราย อย่างละเท่าๆ กัน บดทำแท่งไว้ละลายน้ำกิน ถ้าลงท้อง(ถ่ายท้องอย่างแรง)เอาฝิ่นรำหัดลง(ผสมฝิ่นเล็กน้อยมาก) แก้พิการจานทรางทั้งปวงแล”

ตำรับยาเด็กข้างต้น มีส่วนประกอบง่ายๆ เพียง 4 อย่าง เป็นอาหาร 2 อย่าง คือถั่วพูกับ น้ำตาล อีก 2 อย่างเป็นสมุนไพร ส่วนฝิ่นนั้นเป็นเพียงยาแทรกเรื่องการใช้ฝิ่นรักษาโรคเด็กนี้ คุณหมอไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าไว้ในประวัติของท่านว่า เมื่อแรกเกิดท่านมีอาการร้องไห้ไม่หยุด สมัยนี้คงเทียบเท่ากับอาการโคลิก(Baby Colic) คุณตาพลอยหมื่นชำนาญแพทยา หมอใหญ่แห่งราชสำนักได้ใช้ฝิ่นเท่าเม็ดพริกไทยป้ายลิ้นท่าน ทำให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้ทันที

ในที่นี้มิใช่ส่งเสริมให้ใช้สิ่งเสพติดผิดกฎหมาย เพียงแต่ต้องการแสดงภูมิปัญญาไทยที่นำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคเด็กและผู้สูงอายุ ก่อนที่การแพทย์สมัยใหม่จะรู้จักนำกัญชาและสกัดมอร์ฟีนจากฝิ่นมาใช้รักษาโรคเสียอีก อย่างไรก็ดี ยารักษาตานทรางเด็กดังกล่าว หากหมอไทยจะใช้ ต้องตัดฝิ่นออก ส่วนกัญชาในตำรับสามารถใช้ได้ตามกฎหมายใหม่ที่เปิดโอกาสให้ใช้ได้ตามหลักการและกรรมวิธีแพทย์แผนไทย

กัญชากับการแพทย์เพื่อบำบัดโรคและอาการต่างๆ เป็นที่ยอมรับกัน แต่กัญชาที่ไปไกลแผ่ขยายไปหลายวงการ รวมถึงข่าวและปรากฏการณ์ใช้ในสันทนาการนั้น สังคมไทยจะต้องร่วมกันหาทางแบ่งเส้นบางๆ นี้ให้ชัดเจน เป้าหมายเพื่อยา แต่อย่ากลายเป็นช่องกลับมาทำร้ายเด็กเยาวชนและผู้คนในสังคมไทย.