ลำไย ผลไม้และยาพื้นบ้านนานาชาติ (2)

คนไทยปลูกลำไยส่งไปจีนจำนวนมาก เพราะคนจีนมีความเชื่อว่าลำไยเป็นผลไม้มงคล นำมาใช้ในพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความหวานชื่น ใช้ในพิธีแต่งงาน ในงานมงคลอื่นๆ ลำไยยังเป็นผลไม้สัญลักษณ์ให้ชีวิตรุ่งเรือง เจริญก้าวหน้า หรือแม้แต่ในงานขาวดำเองก็มีลำไยประกอบในพิธีกรรมให้หมายถึงสิ่งดี ๆ ของลูกหลานด้วย หลายคนชอบกินทั้งลำไยสด แห้ง และน้ำลำไยรสหอมหวาน แต่เชื่อว่าหลายท่านไม่ทันรู้ว่าลำไยใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อยู่ในหลายประเทศ

ยาพื้นบ้านในประเทศจีน มีภูมิปัญญาดั้งเดิมว่า ใบ ซึ่งมีรสจืดและชุ่มสุขุม ใช้เป็นยาแก้โรคมาลาเรีย ริดสีดวงทวารหนัก ฝีหัวขาด และไข้หวัด โดยนำใบมาต้มน้ำกิน ดอก ใช้ดอกสดหรือตากแห้งนำมาต้มน้ำกิน แก้โรคเกี่ยวกับหนองทั้งหลาย เมล็ด ต้มหรือบดเป็นผง รักษากลากเกลื้อน แผลมีหนอง แก้ปวด สมานแผลและใช้ห้ามเลือด ราก หรือ เปลือกราก ต้มน้ำกินหรือต้มเคี่ยวให้ข้น แก้สตรีตกขาวมากผิดปกติ ขับพยาธิเส้นด้าย เปลือกผล ที่แห้งนำมาต้มน้ำกิน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่น หรือใช้เป็นยาทาภายนอกโดยเผาเป็นเถ้าและบดเป็นผงโรยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื้อหุ้มเมล็ด นำมาต้มน้ำกินหรือแช่เหล้า เป็นยาบำรุงม้าม เลือดลม และหัวใจ บำรุงร่างกาย สงบประสาท แก้อ่อนเพลียจากการทำงานหนัก ลืมง่าย นอนไม่หลับ ประสาทอ่อน

ตำรับยาจีน นิยมใช้ลำไยผสม ในตำรับยาแพทย์แผนโบราณ เพื่อคลายอาการปวดประสาทและการบวมโดยเฉพาะบวมในสตรีหลังคลอดบุตร โดยใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ และมีตำรับยาที่ใช้เนื้อลำไยเพียงอย่างเดียวดองเหล้า ไว้นาน 100 วัน สูตรยา ลำไยแห้งปริมาณ 60 กรัม ดองเหล้าที่ทำจากข้าว 500 มิลลิลิตร  ใช้บำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะม้าม เลือดพร่อง และรักษาจิตใจ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อ่อนแอหรือไฟธาตุต่ำ ส่วนเปลือกและเมล็ด ยังใช้ฟื้นฟูร่างกายสำหรับหญิงหลังคลอด และใช้สำหรับเพิ่มภูมิต้านทาน ตำรับยาจีน นิยมใช้เนื้อลำไย ร่วมหรือเสริมฤทธิ์ในการรักษาผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย

ในประเทศเวียดนาม  ใช้เนื้อผลแห้งเป็น อาหาร ยาบำรุง นัยว่ามีประโยชน์ต่อม้าม ไตและปอด สติปัญญา และใช้สำหรับแก้อาการนอนไม่หลับ โรคประสาทที่มีอาการอ่อนเพลียอย่างเรื้อรัง อ่อนแรง อาการจิตซึม (neurasthenia) แก้ความจำไม่ดี หรือสูญเสียความจำบางส่วน ซึ่งมักใช้ในรูปสารสกัดหรือยาต้มขนาดยา 9-10 กรัมต่อวัน และมีการนำเอาเมล็ดซึ่งมีสารซาโปนินอยู่มาก นำมาใช้เป็นแชมพู และนำเมล็ดบดเป็นผง ใช้ทาโรคผิวหนังอย่างเช่น ตุ่มพุพอง

ในส่วนของไทย มีการใช้ใช้คล้ายคลึงกัน คือ ส่วนของ ราก ซึ่งมีรสร้อน ต้มกับน้ำตาลกรวด ดื่มแก้เสมหะและลม รากสด ใช้ต้มกับน้ำตาลกรวดกินแก้ฟกช้ำ ช้ำใน พลัดหกล้ม จะขับของเสีย เลือดเน่าออกทางทวารได้ผลดี ราก หรือ เปลือกต้น รสฝาดร้อน แก้เสมหะ แก้ลมป่วง แก้ลมจุกเสียด ข้อควรระวัง ไม่กินหรือใช้เนื้อลำไย ในกรณีมีอาการเจ็บคอหรือไอมีเสมหะหรือเป็นแผลจนอักเสบมีหนอง

ขอแนะนำให้รู้จักประโยชน์จากลำไยที่อยู่ในตำรับยาไทยและในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มเติม

  1. รักษามาลาเรีย ใช้ใบสดกับปอขี้ตุ่นแห้ง 10-20 กรัม และน้ำ 2 แก้ว ผสมเหล้าอีก 1 แก้ว กินก่อนมีอาการไข้ 2 ชั่วโมง
  2. ปัสสาวะขัด ใช้เนื้อในเมล็ดต้มน้ำกิน แก้ปัสสาวะขุ่นขาว หรือใช้ดอกลำไยสดประมาณ 30 กรัม ต้มกับเนื้อหมู เอาน้ำกิน 3-5 ครั้งก็ได้
  3. สตรีที่คลอดบุตรแล้วมีอาการบวม ใช้เนื้อลำไยผสมกับลูกพุทราและขิงสด ต้มน้ำกิน
  4. ท้องเสีย ใช้เนื้อลำไย 14 ลูก ขิงสด 3 แว่น ต้มน้ำกิน
  5. แผลเรื้อรังและมีหนอง ใช้เมล็ดเผาไฟเป็นเถ้า และเอาผสมน้ำมันมะพร้าวใช้ทา
  6. กลากเกลื้อน ใช้เมล็ดที่ลอกเอาเปลือกสีดำออก ชุบน้ำส้มสายชูที่หมักจากข้าวทาบริเวณที่เป็น
  7. น้ำร้อนลวก ใช้เปลือกผลบดเป็นผงหรือเผาให้เป็นเถ้า ผสมกับน้ำมันลูกมะเยา ทาแผลจะหายปวดและไม่เป็นแผลเป็น
  8. แผลเน่าเปื่อยและคัน ใช้เมล็ดเผาเป็นเถ้าแล้วทา ตรงบริเวณที่เป็น

ลำไยเป็นผลไม้รสหอมหวานอร่อยและเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อย่างดี และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแทบทุกส่วน เมื่อกินเนื้อแล้ว เปลือกและเมล็ดลำไยหากคิดเป็นของเสียโยนทิ้งก็คิดเป็น 16-40% ของน้ำหนักลูกลำไย แต่ถ้าคิดเป็นโอกาสในการพัฒนา ก็จะพบว่าเป็นส่วนที่มีศักยภาพในการใช้ที่เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่หาได้ง่าย สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายชนิดที่นักวิจัยไทยสามารถต่อยอดจากองค์ความรู้ยาพื้นบ้านหรือยาดั้งเดิม

ใครที่นิยมชมชอบกินลำไย แต่พบว่ามีอาการแพ้ที่มักมีอาการที่เรียกว่าร้อนในนั้น มีคำแนะนำจากรายงานวิจัยของจีนว่า ให้กินลำไยที่ผ่านขบวนการให้ความร้อนแล้ว จะช่วยลดสารในลำไยที่อาจทำให้แพ้ได้ ใครที่ไม่แพ้สารเหล่านี้ก็กินลำไยสด ๆ ได้เพลิน แต่คนที่รู้ตัวว่ากินสดแล้วร้อนในง่ายก็เปลี่ยนมากินขนมหวานที่ใส่ลำไย หรือน้ำต้มลำไยแทน ให้ได้ประโยชน์จากลำไยกันทุกคน