วันนั้นของคุณผู้หญิงมาตามนัดสบายๆ ด้วยลูกผักชีลาว

ในคัมภีร์มหาโชติรัตว่าด้วยโรคเฉพาะของสตรี กล่าวว่า “ปฐมสัตว์มนุษย์อันเกิดมาเป็นรูปสตรีภาพ มีกายประเภทต่างจากผู้ชาย 4 ประการ คือ 1)ถันประโยธร 2)จริตกิริยา 3)ที่ประเวณี 4)ต่อมเลือดระดู” นับว่าสอด คล้องกับพระไตรปิฎกที่รับรองว่า “ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลาย เป็นผู้มีคุณมาก เพราะพระพุทธเจ้าก็เกิดจากหญิง,เกิดขึ้นก่อนในโลก คือตอนปฐมกัป เพศหญิงเกิดขึ้นก่อน” จะต่างกันบ้างตรงที่พระไตรปิฎกบอกว่าเพศหญิงต่างจากจากเพศชายแค่สองอย่างเท่านั้น คือ เพศหญิงมีถันประโยธร(เต้านม) และต่อมโลหิตระดู (มดลูกที่เป็นต่อมประจำเดือน)

แต่เดี๋ยวนี้ศัลยกรรมแปลงเพศทำให้ทฤษฎีแพทย์แผนไทยที่แยกเพศหญิง-ชายทางกายภาพนั้น ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะของเทียมทำเนียนเหมือนของจริง จึงเหลือเพียงอย่างเดียวที่สาวประเภทสองทำเทียมไม่ได้คือ มดลูกที่หลั่งโลหิตระดู ซึ่งเป็นทุกข์ประจำเดือนของสาวแท้เท่านั้น สาวเทียมไม่มี

ตามหลักแพทย์แผนไทย ปกติผู้หญิงจะมีประจำเดือน(เมนส์) อายุระหว่าง 14-32 ปี แต่เดี๋ยวนี้อาหารการกินเปลี่ยนไปมีสารโฮโมนเร่งโตในเนื้อสัตว์ต่างๆ ช่วงอายุมีประจำเดือนจึงกว้างขึ้นระหว่าง 12-45 ปี ถ้าเริ่มมีเมนส์ก่อนอายุ 12-13 ปี โบราณเรียกว่าเป็นสาวก่อนวัย แต่ถ้าหลังอายุ 45 แล้วเมนส์ยังมา ท่านเรียกว่า สาวสูงวัย(ฮา)

ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติของสาววัยเจริญพันธุ์ เป็นการลอกตัวของเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นประจำทุกเดือน ยกเว้นเดือนที่มีไข่ฝังตัวและมีการตั้งครรภ์ ถ้าเมนส์ไม่มาตามนัดนั่นแหละจึงถือเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งรอบประจำเดือนปกติอยู่ในช่วงทุกๆ 21-35 วัน ไม่ควรมาก่อนหรือหลังจากนั้น สำหรับสีของโลหิตระดู ตอนมาวันแรกควรมีสีแดงสด แต่วันที่ 2-3 จะมีสีคล้ำลงเป็นธรรมดา แพทย์แผนไทยเชื่อว่าสตรีสุขภาพดีต้องมีโลหิตระะดูงาม จึงเรียกชื่อคัมภีร์ว่า “มหาโชตรัต” หมายถึง “สีแดงอันสว่างรุ่งเรืองอย่างยิ่ง” (มหา=อย่างยิ่ง, โชต=สว่างรุ่งเรือง, รัต=สีแดง, ในที่นี้หมายถึงสีแดงของโลหิต) แต่เลือดประจำเดือนที่ผิดปกติคือ เลือดที่ออกเป็นลิ่มๆ มามากเกินไปหรือมาแบบกะปริดกะปรอย

สาวไทยสมัยโบราณหากมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ ก็มียาไทยหลายตำรับช่วยตอบโจทย์ได้ และมีตำรับหนึ่งซึ่งผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลรัฐที่มีการใช้ได้ผลจริงกับผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย คือ ยาประสะไพล ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรถึง 12 ชนิด โดยมีไพลปริมาณครึ่งหนึ่งโดยน้ำหนัก ปัจจุบันยาประสะไพลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร แพทย์สั่งจ่ายได้ในโรงพยาบาลของรัฐและอยู่ในประกาศยาสามัญประจำบ้านแสดงว่าเป็นยาปลอดภัยให้ประชาชนสามารถใช้ได้เองเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับโลหิตระดูให้มาสม่ำเสมอ และขับน้ำคาวปลา ในหญิงหลังคลอดบุตร

นอกจากยาตำรับประสะไพลที่ใช้ตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยแล้ว ยังมียาสมุนไพรเดี่ยวที่ใช้ตามการวิจัย คือ “เทียนตาตั๊กแตน” หรือ “ลูกผักชีลาว” ชื่อพฤกษศาสตร์ Anethum graveolens L. มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ คาร์โวน (carvone) ออกฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือน โดยมีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครเพศหญิงวัยมีประจำเดือนอายุระหว่าง 18-28 ปี จำนวน 75 คน โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 25 คน

กลุ่มที่ 1 ให้อาสาสมัครรับประทานยาแคปซูลบรรจุผงลูกผักชีลาวขนาด 1,000 มิลลิกรัม(มก.) รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น หรือเว้นระยะห่าง12 ชั่วโมง โดยเริ่มรับประทานก่อนมีประจำเดือน 2 วัน และรับประทานติดต่อกัน 5 วัน ทำการศึกษา 2 รอบของการมีประจำเดือน กลุ่มที่ 2 และ 3 ให้รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนซึ่งไม่มีสเตียรอยด์ ชื่อ เมเฟนามิคแอซิด(mefenamic acid) ขนาด 250 มก.และยาหลอกขนาด 500 มก. ตามลำดับ โดยให้รับประทานในวันและระยะเวลาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 มีการวัดระดับความปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ด้วยวิธีมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า อาการปวดประจำเดือนของอาสาสมัครในกลุ่มที่ 1 และ 2 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในรอบเดือนที่ 1 และที่ 2 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกอาการปวดมิได้ลดลงเลยในรอบเดือนที่ 1และลดลงบ้างในเดือนที่ 2

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ยาแคปซูลผงเทียนตาตั๊กแตนหรือลูกผักชีลาวสามารถระงับอาการปวดประจำ เดือนได้เทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน จึงเป็นยาทางเลือกที่มีความปลอดภัยมากกว่าสำหรับคุณผู้หญิงที่ต้องทุกข์ทรมานในวันนั้นของทุกรอบเดือน นานๆ ครั้งจะพบเจอเครื่องเทศตัวเดียวอย่างลูกผักชีลาวที่หาง่าย ใช้ง่าย เพียงบดผงบรรจุแคปซูลรับประทานเพียงครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 เวลาก็มีประสิทธิภาพเท่ากับเคมีเภสัช ไม่ลองไม่รู้

วันเบาๆ ของ สตรีอาจไม่เบา รอบเดือนต่อไปหันมารับประทานยาแคปซูลลูกผักชีลาว แทนยาแก้ปวดฝรั่ง ได้ผลแล้วอย่าลืมบอกต่อด้วย.