วิจัยชัดสมุนไพร “ปอบิด” รักษาเบาหวาน แต่ทำลายตับ

นางเสาวณีย์ กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีการนิยมนำสมุนไพร “ปอบิด” มาใช้รักษาโรคเบาหวาน แต่พบผู้ป่วยบางรายมีอาการไตวาย ว่า ตามตำราการแพทย์แผนไทย สมุนไพร “ปอบิด” สารสำคัญจะอยู่ที่รากและเปลือก เมื่อทบทวนตำรายาในต่างประเทศ มีหลายประเทศนำมาใช้ เช่น อินเดีย ใช้รากผสมขมิ้นรักษาแผล อินโดนีเซีย ใช้รักษากระเพาะอาหาร พยาธิตัวตืด ประเทศแถบมลายู บำรุงสุขภาพเด็กแรกเกิด เป็นต้น ส่วนงานวิจัยพบว่า ปอบิด มีผลในการรักษาเบาหวาน สามารถลดน้ำตาลในหนูทดลองได้ แต่มีผลข้างเคียงคือสามารถทำลายตับหนูได้ และเกิดการกระตุ้นหัวใจในกบ

นางเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า สมุนไพรดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยด้านพิษวิทยา แต่มีงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ โดย รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า แม้ปอบิดจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง และผู้ที่จะใช้ตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต

“ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีตับอ่อน ไต หัวใจ ไม่แข็งแรงและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนได้ หากดูแลสุขภาพไม่ดี ซึ่งหลักการใช้สมุนไพรเป็นยานั้นไม่ควรกินเกิน 7 วัน เพราะปริมาณสารเคมีจากสมุนไพรควบคุมได้ยาก หากจะใช้สมุนไพรในการรักษาโรคไม่ควรกินต่อเนื่อง หรือ เลือกกินอาหารเป็นยาแทน เพราะปริมาณความเข้มข้นของสมุนไพรที่ได้จะมีความเข้มข้นต่างกัน เช่น กินผักแกล้ม หรือ น้ำคั้น เช่น ใบกระเพรา ใบบัวบก ก็มีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้เช่นกัน แต่ต้องใช้หลักการเดียวกันคือ สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้” นางเสาวณีย์ กล่าว

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ก.พ.57

 

ใช้ปอบิดอย่างไรให้ถูกโรค ถูกวิธี

โดย มูลนิธิสุขภาพไทย

สมุนไพรพันธุ์ไทยที่บิดแรงแซงโค้งในเวลานี้เห็นจะไม่มีพันธุ์ไหนเกิน “ปอบิด” ซึ่งช่วงนี้สนนราคาปาเข้าไปกิโลกรัมละเกือบ 1,000 บาทแล้ว เพราะแม้ปอบิดจะเป็นพันธุ์วัชพืชที่ขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป แต่ก็เป็นไม้ที่ให้ฝักเพียงปีละครั้งเดียว ช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ดังนั้นในช่วงที่ดีมานด์สูง ตลาดสมุนไพรตัวนี้จึงขาดแคลน ราคาจึงสูงขึ้นเป็นธรรมดา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจชื่อที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “ปอกะบิด” นั้น น่าจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะในหมู่หมอแผนไทย จะเรียกสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Helicteres isora Linn ตัวนี้ว่า “ปอบิด” หรืออาจจะเรียกว่า “มะบิด” ในภาษาเหนือทั่วไป ซึ่งทำให้เสียงเพี้ยนมาเป็น ปอกะบิดได้ แต่ถ้าจะให้เป็นหลักวิชาการจริงๆต้องอ้างอิงหนังสือชื่อ พรรณไม้แห่งประเทศไทยฉบับชื่อพฤกษศาสตร์ ชื่อพื้นเมือง ของดร.เต็ม สมิตินันทน์ที่กรมป่าไม้ยึดถือเป็นมาตรฐาน เขาเรียกสมุนไพรตัวนี้ว่า “ปอปิด (Po-pit) มะปิด (Ma pit)” ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ขอเรียกชื่อ “ปอบิด” ตามปากหมอแผนไทยซึ่งบ่งบอกลักษณะของฝักที่บิดเป็นเกลียว 5 เส้นของสมุนไพรตัวนี้ และตรงกับชื่อเรียกสามัญในภาษาอังกฤษว่า East Indian screw (แปลว่าเกลียว) tree หรือชื่อในภาษาปักษ์ใต้ว่า “ลูกนาคพด” หมายถึงลูกไม้ที่มีลักษณะคล้ายพญานาคที่ขดตัวเป็นเกลียว ในขณะนี้ปอบิดกำลังฮิตฮอตมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยสรรพคุณครอบจักรวาล จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะที่มีการอ้างสรรพคุณว่าช่วยบำรุงตับไตเพราะตามตำราหมอแผนโบราณมิได้กล่าวถึงสรรพคุณดังกล่าว และในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของ ฝักปอบิด ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับและไตโดยตรง เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขจัดและกรองสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย

ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะสรรพคุณตามหลักแพทย์พื้นบ้านไทย คือ ฝักปอบิดมีรสฝาด มีฤทธิ์ระงับบิด แก้ท้องร่วงได้ชะงัด แก้ปวดท้องอันเนื่องจากท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี รวมทั้งช่วยแก้อันตังและอันตคุณังพิการ ซึ่งหมายถึงช่วยรักษากระเพาะลำไส้ใหญ่ (อันตัง) และลำไส้เล็ก (อันตคุณัง) อักเสบ (พิการ) นั่นเอง ถ้าจะประยุกต์สรรพคุณตรงนี้ของปอบิด ก็น่าจะสามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้ด้วย

ส่วนสรรพคุณแก้เคล็ด ขัดยอก ปวดบวมนั้น หมอไทยจะใช้ฝักปอบิดสดๆ (ไม่อ่อนหรือแก่จัด) เอามาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการเคล็ด ขัดยอก ปวดบวมทั่วไปหรือเกิดจากโรคเกาต์ก็ได้ แต่จากประสบการณ์การใช้จริงของหลายๆคนประจักษ์ตรงกันว่า น้ำต้มฝักปอบิดสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเข่า อย่างเห็นได้ชัด

แต่สรรพคุณลดน้ำตาล รักษาเบาหวานของปอบิดนั้น ในตำราโบราณและความรู้ที่สืบทอดมานั้น ไม่เคยมีการกล่าวไว้เหมือนรางจืดหรือแก่นอินทนิน แม้เริ่มมีงานวิจัยกล่าวถึงไว้บ้างแต่ก็ยังไม่สามารถมาทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ และไม่ชัดเจนพอที่จะนำมาอ้างอิงได้ทั้งแผนไทยและแผนตะวันตก สรุปความกันว่าลดน้ำตาลในเลือดยังไม่ปรากฏชัด และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

วิธีใช้
การเก็บฝักปอบิดเพื่อให้ได้สรรพคุณดีต้องเก็บในขณะที่ฝักใกล้แก่แต่ยังเขียวสดอยู่ แล้วนำมาอบหรือตากแห้ง แต่ถ้าทิ้งไว้คาต้นจนแห้งเกราะสรรพคุณจะลดน้อยลงมาก

วิธีใช้ ตำรับที่เล็กที่สุดคือนำปอบิดแห้ง 10 ฝัก ต้มน้ำ 500 ซีซี (ครึ่งลิตร) เคี่ยวไฟอ่อนๆให้เหลือ 200-250 ซีซี จะได้น้ำยาสีน้ำตาลเข้ม ถ้ารักษาอาการบิด ท้องร่วง ท้องเสีย ให้จิบขณะอุ่นๆ ก่อนอาหารจากนั้นต้มซ้ำดื่มอย่างเดียวกัน ตำรับนี้ต้มดื่มได้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ดื่มอย่างมาก 3 วัน อาการบิด ท้องร่วง ท้องเสียจะทุเลาลงโดยไม่ต้องพึ่งยาแผนตะวันตกเลย และถ้าหากดื่มแก้ท้องอืดแน่นเฟ้อก็ต้มอย่างเดียวกันแต่เคี่ยวไฟให้เหลือน้ำยา 300 ซีซีก็ได้ไม่ต้องเข้มข้นเหมือนการรักษาโรคบิดก็ได้

ส่วนการรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดเข่าเรื้อรังและกระเพาะลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้น ใช้ขนาดยาเหมือนข้างต้น แต่ต้มเดือดพอออกสีชาเข้มให้น้ำงวดลงเหลือประมาณ 350 ซีซี ดื่มขณะอุ่น ครั้งละ 200-300 ซีซี เวลาก่อนอาหาร สมุนไพรชุดเดียวกันนี้ต้มซ้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง หรือกระทั่งน้ำยาสีน้ำตาลอ่อนลงมาก ให้ทิ้งกากยา

ข้อระวัง
1)ตอนซื้อหายาคือเดี๋ยวนี้มีการเวียนเทียนเอากากสมุนไพรปอบิดที่ต้มแล้วมาตากแห้ง ผสมปนขายกับของดีซึ่งสังเกตยากมาก จึงต้องซื้อจากเจ้าประจำที่ไว้ใจได้ ของราคาแพงก็มักจะมีของปลอมปนอย่างนี้แหละ

2) ให้ใช้ยาทาที่จำเป็น เมื่ออาการดีขึ้นให้หยุดยา และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 7 วัน เพราะจะมีผลต่อตับ

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก..https://www.thaihof.org/main/article/detail/3165

บทความที่เกี่ยวข้อง