วิจัยพบเห็ดเผาะเหมาะต้านมะเร็งตับ

ร่ำ ๆ เข้าเดือนหกต้นฝน พ้นแล้งแล้ว บรรดาพรานเห็ดต่างรอคอยเข้าป่าหาเห็ดเผาะ ถ้ายังจำกันได้ เมื่อต้นฝนปีที่แล้ว หลังล็อคดาวน์โควิดปิดเมือง ก็มีข่าวชาวบ้านมากมายหลายพื้นที่ทั้งอีสานและเหนือแห่หาเห็ดเผาะ ตามข่าวพาดหัวว่า “ชาวบ้านเฮโล เข้าป่า แห่หาเห็ดเผาะ” บางฉบับก็จั่วหัวแรงว่า “ป่าแทบแตก! ฝนแรกชาวบ้านแห่เก็บเห็ดเผาะ อาหารหายาก หนึ่งปีมีครั้ง”

ชาวบ้านในพื้นที่ยากจนเขาเห็นป่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและออฟฟิศทำงานหารายได้ จึงเกิดกรณีที่กองทัพชาวบ้านบุกป่าหาเห็ดเผาะในอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นเสมือนห้างใหญ่ของพวกเขา กลายเป็นข่าวดราม่าว่า “ฤดูเห็ดเผาะ ทำป่าแตก ชาวบ้านแห่หา ตั้งแต่ตี 4 อุทยานยันเข้าไม่ได้” ผลก็คือแทนที่ชาวบ้านหาเห็ดขายรายได้วันละครึ่งหมื่น กลับถูกจับปรับหัวละ 500 บาท จึงโวยรัฐว่ากฎหมายอุทยานฉบับใหม่ปี 2562 เปิดไฟเขียวให้ชาวบ้านเข้าอุทยานหาของป่าได้แล้วไง แต่ผอ.อุทยานยืนกระต่ายขาเดียวว่ายังใช้ไม่ได้เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก นี่ปรานีปรับแค่ 500 บาท ไม่ปรับเต็มแม็ก 50,000 บาทแถมติดคุกอีก 2 ปี

ภัยโควิดทำพิษจนชาวบ้านอดอยากปากแห้ง หลงผิดคิดว่ารัฐบาลแก้กฎหมายเปิดป่าอนุรักษ์ให้หากินได้เป็นนิวนอมัลของชาวบ้านยามโควิด ซึ่งดีกว่ารับเงินแจกที่รัฐบาลกู้เขามาเป็นไหนๆ พรบ.ฉบับใหม่ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ป่าอนุรักษ์ยังปิดอยู่ “ฤดูเห็ดเผาะ” ปีนี้ก็ใกล้เข้ามาแล้ว คงไม่แคล้วดราม่าป่าแตกอีก แต่ถ้าเหตุเกิดที่เมืองเหนือ หัวข่าวก็จะเปลี่ยนชื่อจาก “เห็ดเผาะ” เป็น “เห็ดถอบ” บวกดราม่าสยองขวัญนิดๆ ชวนติดตามเช่น “ขนลุก! หลงป่าอาถรรพ์ หาเห็ดถอบ” ย้ำ“เห็ดถอบ”นะ ไม่ใช่ “เห็ดปอบ”(ฮา) จึงกล่าวได้ว่า ในบรรดาเห็ดทั้งหลาย“เห็ดเผาะ”หรือ“เห็ดถอบ”เป็นเห็ดยอดฮิตติดเทรนเป็นข่าวทุกปี ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งได้ชื่อว่า “ฤดูเห็ดเผาะ” และเป็นช่วงเวลาทองของชาวบ้าน

เห็ดเผาะเป็นเห็ดป่ายุคดึกดำบรรพ์ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศของโลกมานับล้านปี มีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนมาก จนไม่มีเทคโนโลยีเกษตรสุดล้ำใดๆ สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อราชั้นต่ำของเห็ดเม็ดกลมๆ ตัวนี้ได้ ในขณะที่เราสามารถโคนนิ่งเซลสัตว์ชั้นสูงอย่างมนุษย์ไดโนเสาร์เต่าล้านปีได้

เห็ดเผาะมี 2 ชนิด แม้ชื่อเรียกเดียวกันในภาษาไทยโดยจำแนกกันตามสีสัน คือเห็ดเผาะหนังสีน้ำตาลกับเห็ดเผาะฝ้ายสีขาว แต่ชื่อ นามสกุลในภาษาพฤกษศาสตร์เรียกต่างกันเลย คือ “เห็ดเผาะหนัง” ชื่อ Astraeus hygrometricus เห็ดชนิดนี้แหละที่มีฉายาว่า “เห็ดดาว” มาจากคำละตินว่า “Astra” ซึ่งแปลว่า “ดาว”(Star) นั่นเอง ส่วน “เห็ดเผาะฝ้าย” ชื่อ Geastrum saccatum ในที่นี้ตัวท็อปที่เป็นดาวยอดนิยมถล่มทลายจนป่าแตก ก็คือ เห็ดเผาะหนัง เพราะมีรสชาติความกรุบกรอบ หอมอร่อยเฉพาะตัว สนนราคาตอนต้นฤดูฝนอาจพุ่งทะลุกว่า 500บาท/กก. ชาวบ้านคนหนึ่งอาจมีรายได้ในฤดูเห็ดเผาะเหนาะๆ ร่วมหมื่นเลยทีเดียว พ่อค้าแม่ขายหัวใสกว้านซื้อเห็ดเผาะกักตุนแช่ฟรีซไว้ขายทางออนไลน์ทั่วไทยทั้งปีมีรายได้งามๆ ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างนี้

เมนูเห็ดเผาะมีคุณค่าอาหารสูงมาก อุดมด้วยโปรตีน ไขมันตัวดี มีฟอสเฟต แคลเซี่ยม ธาตุเหล็ก ไนอะซีนและวิตามินซี เฉพาะคาร์โบไฮเดรตในเห็ดเผาะสด หนักแค่ 1 ขีด (100กรัม) ก็ให้พลังงานถึง 45 กิโลแคลอรี จึงเป็นอาหารบำรุงร่างกาย ชูกำลังไม่แพ้เห็ดถั่งเช่าราคาแพง มีการโฆษณาแอบแฝงสรรพคุณบำรุงกำหนัดของเห็ดเผาะในกลอนเก่าเพิ่นว่า “แนวใส่แลง แกงเห็ดเผาะ ใส่น้ำเอาะเจาะ เอาะเจาะ กินแล้วเฮามา(…เซ็นเซอร์…)กันเนาะ” แปลแบบถอดความว่า เคล็ดการแกงเห็ดเผาะนั้น ต้องใส่น้ำน้อยๆ (เอาะเจาะ) กินเสร็จแล้วเรามา …อย่างว่ากันนะ(ฮา) อย่าว่าแต่ผู้บ่าวเลย ผู้สาวถ้ากินเห็ดเผาะก็อาจหน้ามืดอยากจะ เอาะเจาะๆๆ กับชายใกล้ตัว ดังเพลงสอยอีกเวอร์ชั่นว่า “สอย..สอย..กินแกงเห็ดเผาะใส่น้ำเอาะเจาะ เอาพี่อ้ายนี่เถาะ ขี้คร้านหาผัว” ไม่ต้องแปลก็พอเดาความได้ว่าสาวๆ พอกินแกงเห็ดเผาะน้ำน้อยแล้วก็ขี้เกียจหาผัวไกลตัว ขอกับคนใกล้ๆ นี่แหละ

คนโบราณท่านฉลาด จึงมีเมนูเห็ดเด็ดๆ ที่กินเป็นทั้งอาหารและยา ถ้าเป็นเมนูเห็ดเผาะอีสาน ก็แกงกับหน่อไม้ใส่ย่านาง น้ำเอาะเจาะให้รสเข้มข้นหรือถ้าเป็นเมนูเห็ดถอบของเมืองเหนือ ยิ่งง่าย แค่เห็ดเผาะต้มเกลือ จะใส่ใบเตยเพิ่มความหอมลงไปก็ได้ ใช้น้ำน้อยๆ เห็ดเผาะต้มจิ้มน้ำพริกข่า หรือแนมน้ำพริกหนุ่ม ขบดังเผาะ กรอบนอกนุ่มในไอดินกลิ่นหอมของป่าเบญจพรรณอบอวลอยู่ในปากขึ้นจมูก เป็นประสบการณ์เอร็ดอร่อยไม่รู้ลืม

เห็ดเผาะมีรสเย็นหวาน อาหารปรุงง่ายๆ แบบนี้จึงได้ทั้งรสและสรรพคุณยาไทยเต็มๆ คือ ชูกำลัง บำรุงร่างกาย แก้ช้ำใน ด้วยฤทธิ์สมานแผลแก้อักเสบช้ำภายในร่างกายของเห็ดเผาะนี่เอง จึงมีนักชีวเคมีทั้งจีนและอเมริกาศึกษาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งของเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ฉายาดาวดิน ที่มีชื่อว่า สารแอสตร้าเคอคูโรน (Astrakurkurone) จึงขอโหนกระแสแอสตร้าเซเนก้าวัคซีนชื่อดังในเวลานี้ ที่สงสัยว่าจะฉีดดีหรือเปล่า(ฮา)

เมื่อปี 2562 นี้เองมีการตีพิมพ์เรื่อง “ฤทธิ์ต้านเซลมะเร็งตับจากเห็ดเผาะ” ในวารสารทางวิชาการชื่อดังของสมาพันธ์ชีวเคมีและชีวโมเลกุลนานาชาติ พบว่าสารแอสตร้าเคอคูโรนในเห็ดเผาะ ฆ่าเซลมะเร็งในตับ โดยไม่ทำลายเซลตับแต่อย่างใด ศึกษาเปรียบเทียบกับยาเคมีต้านมะเร็งตับชื่อ ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) ซึ่งแม้ใช้ในขนาดยาที่น้อยมากก็ยังมีพิษต่อเซลตับและไม่ปลอดภัยหากใช้ยาตัวนี้ในระยะยาว ผลสรุปคือ สารสำคัญของเห็ดเผาะมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับอย่างชัดเจน และกำลังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรอคอยความหวังจากดวงดาวประดับดิน

แต่สำหรับคนไทย เราต้องช่วยกันอนุรักษ์เห็ดดีที่อยู่ในป่าไทย ด้วยการรักษาป่า ปีนี้นักอนุรักษ์ป่าจะใช้เห็ดเผาะเป็นดาราแคมเปญหยุดเผาป่าเหนือ 9 จังหวัด เพราะส่าราเห็ดเผาะจะมอดไหม้จากไฟป่าจนสูญสิ้นได้ ดังนั้นชาวบ้านต้องร่วมใจป้องกันไฟป่าเพื่อจะได้หาเห็ดเป็นรายได้งามกันทุกปี ตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านบอกว่า ไข้เกิดฤดูไหนให้กินสมุนไพรที่เกิดในฤดูนั้น ฤทธิ์เย็นหวานของเห็ดเผาะจึงเหมาะถอนพิษไข้ในฤดูฝนที่กำลังมาเยือน.