วิจัยใช้แสงฯวิเคราะห์ธาตุในเส้นผมโรคสมองเสื่อม

นักวิจัยไทยสุดยอดใช้แสงซินโครตรอนศึกษาวิเคราะห์ธาตุสำคัญในเส้นผมครั้งแรก พบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมี 3 ธาตุสำคัญสูงกว่าคนปกติ เตรียมต่อยอดงานวิจัยหาสมุนไพรไทยผลิตยารักษา

ผศ.ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า จากการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ พญ.อัญชลี ศิริเทพทวี แพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ในการศึกษาธาตุเจือในเส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้วยแสงซินโครตรอนโดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) เพื่อศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมในการวัดหาแร่ธาตุและองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเส้นผม เนื่องจากเส้นผมเป็นตัวอย่างที่สามารถเก็บได้ง่ายมีความคงทนและมีการสะสมของธาตุอยู่มาก ทีมงานวิจัยได้เก็บตัวอย่างเส้นผม 30 ราย อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ 15 ราย และคนปกติ (Normal Control) 15 ราย เป็นเส้นผมที่ไม่ผ่านการโกรก ย้อม หรือทำสี จากนั้นนำมาทำความสะอาดแช่น้ำยาล้างไขมันและสิ่งเจือปนออกก่อนวิจัยด้วยแสงซินโครตรอน

ผศ.ดร.จารุวรรณ กล่าวว่า การศึกษาพบว่าธาตุในเส้นผมจากทั้งสองกลุ่มมีธาตุสำคัญ คือ ออกซิเจน (O) ซัลเฟอร์ (S) คลอรีน (Cl) ซิลิกอน (Si) แมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P) แต่เส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีสัดส่วนของธาตุแคลเซียม (Ca) คลอรีน (Cl) และฟอสฟอรัส (P) ในปริมาณที่สูงกว่าคนปกติ ซึ่งธาตุดังกล่าวจะมีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย (Metabolism) รวมทั้งการทำงานของระบบประสาทมนุษย์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์และพาร์คินสัน มีองค์ประกอบของซัลเฟต (SO42-) อยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในกลุ่มผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด เช่น ภาวะอ้วน เส้นเลือดอุดตัน ผลการศึกษาวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์หาสัดส่วนปริมาณธาตุที่สำคัญในเส้นผม และองค์ประกอบของธาตุนั้น สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบ่งชี้ภาวะโรคสมองเสื่อมได้

ด้าน ดร.วันวิสา พัฒนศิริวิศวะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แสงซินโครตรอนมีลักษณะพิเศษกว่าแสงชนิดอื่น เพราะมีความคมชัดสามารถดูองค์ประกอบต่างๆ ได้ในระดับอะตอม และสามารถวัดแร่ธาตุต่าง ๆที่อยู่ในเส้นผมได้ การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้ทราบระดับความสมดุลของแร่ธาตุระหว่างคนปกติกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมทั้งโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ มีธาตุเหล่านี้แตกต่างกัน ขณะนี้ได้ต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวด้วยการสืบค้นข้อมูลคิดค้นตัวยามารักษาโรคสมองเสื่อมจากสมุนไพรพื้นบ้านของไทยแต่ละชนิด แต่การศึกษาวิจัยจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนค่อนข้างมาก คาดว่า 3-5 ปี น่าจะมียารักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย โดยฝีมือนักวิจัยไทยแน่นอน.

ที่มา : สำนักข่าวไทย MCOT.NET

บทความที่เกี่ยวข้อง