วิธีจัดการป่า ที่ดิน น้ำ ที่ฉลาดกว่ารัฐทำ

ตั้งแต่มีกรมป่าไม้ (หรือในชื่ออื่น) มาจนถึงปัจจุบัน ป่าไม้ลดลงจากเมื่อก่อนมาก กรมกองที่ดูแลเรื่องที่ดิน เรื่องน้ำ ไม่ได้ป้องกันการทำลาย และการแก่งแย่งที่ดิน น้ำ โดยพวกนายทุน และไม่ได้ช่วยจัดการเรื่องทรัพยากรส่วนรวมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง เพราะรัฐบาล (ทุกรัฐบาล) นอกจากจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีประสิทธิภาพ และไม่ได้โปร่งใส ทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้ว ระบบการบริหารจัดการโดยภาครัฐบาลเองกลับทำให้ประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากร พวกเขาจึงไม่สนใจดูแลเหมือนในยุคก่อน ที่ประชาชนเคยเป็นผู้ทรัพย์ดูแลทรัพยากรชุมชนด้วยตัวเอง

ในเมืองอัลมอรา ภาคเหนือของอินเดีย ในยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชุมชนเคยดูแลป่าและทรัพยากรธรรมชาติได้เองอย่างมีกติกาที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน และใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน แต่หลังจากที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษออกกฎหมายเมื่อทศวรรษ 1850 ให้ป่าไม้เป็นของรัฐ ห้ามประชาชนเอาสัตว์เข้าไปกินหญ้า ตัดต้นไม้หรือหาของป่า ประชาชนกลับลักลอบทำลายป่ามากกว่ายุคก่อนหน้านั้นอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนไม่รู้สึกว่าป่าเป็นของพวกเขาอีกต่อไป ถ้าเขาไม่ทำ คนอื่นก็อาจจะลักลอบทำอยู่ดี ปัญหานี้รุนแรงมาจนถึงปี ค.ศ.1921 รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจออกกฎหมายใหม่ให้ชุมชนกลับมาเป็นเจ้าของและผู้ดูแลป่าชุมชนโดยมีสภาผู้อาวุโสของหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ และปรากฏว่า หลายหมู่บ้านที่สภาผู้อาวุโสเข้มแข็งดูแลป่าได้ดีกว่าภาครัฐ

ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งอินเดีย เนปาล อินโดนีเซีย และประเทศรายได้ต่ำอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการเพิ่มขึ้นของประชากร ที่ทำให้รัฐและนายทุนเอาเปรียบทั้งทรัพยากรและคน คนส่วนใหญ่จนลงและต้องดิ้นรนหาเงินหาทองจากทรัพยากรธรรมชาติแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าการเพิ่มงบประมาณให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแล คือ การรื้อฟื้นชุมชนให้เข้มแข็ง ให้ชุมชนเข้าใจปัญหาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และชุมชนมีอำนาจบริหารจัดการป่าที่ดิน และทรัพย์สินของชุมชนกันเองอย่างมีกติกาที่เหมาะสม

ในประเทศไทยก็เช่นกัน ก่อนที่ระบบทุนนิยมและรัฐบาลกลางจะเข้าไปควบคุมป่าไม้ที่ดินและน้ำนั้น ชุมชนในภาคเหนือมีการดูแลการชลประทานขนาดเล็กที่เรียกว่าระบบเหมืองฝายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยุติธรรม และยั่งยืน ชุมชนในภาคอื่นก็มีขนมธรรมเนียม กติกาของชุมชนในการใช้พื้นที่ป่าที่ดินส่วนรวม และน้ำร่วมกัน โดยชุมชนมีการดูแลจริงจังอย่างใกล้ชิด และลงโทษคนที่เห็นแก่ตัวไม่ทำตามกติกาของชุมชน อย่างได้ผลมากกว่าเมื่อรัฐบาลกลางเข้าไปยึดมาเป็นของรัฐ เพราะเมื่อรัฐบาลกลางยึดที่ที่ชุมชนเคยดูแล ปัญหาที่ตามมา คือ ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของที่พวกเขาต้องช่วยกันดูแล เมื่อเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทำตัวเป็นเจ้าของป่าไม้และทรัพยากรต่างๆ เสียเอง ทำงานได้ไม่ดีพอ หรือฉ้อฉลมีผลประโยชน์ร่วมกับนายทุนมากกว่าจะดูแลป่าไม้ที่ดินฯลฯ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน และระหว่างนายทุนที่ใช้เข้าไปบุกรุกและ/หรือกว้านซื้อที่ดิน กับชาวบ้านที่เคยทำมาหากินมาดั้งเดิม

แนวคิดเรื่องป่าชุมชน (ป่าที่ชุมชนตั้งคณะกรรมการดูแลและให้สมาชิกใช้ประโยชน์บางอย่างได้) โฉนดชุมชน (มีกรรมสิทธิ์ใช้เฉพาะตัว แต่ขายคนนอกไม่ได้) เป็นแนวทางที่ทำให้คนในชุมชนได้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่าการที่รัฐจะเป็นผู้จัดการเอง หรือปล่อยไปตามกลไกตลาดทุนนิยม เพราะรัฐของไทย เป็นรัฐที่มุ่งเอื้อผู้มีอำนาจ (นักการเมือง ทหาร ข้าราชการ ข้าราชการชั้นสูง) และผู้มีเงินมากกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ และระบบทุนนิยมไทยก็เป็นทุนนิยมผูกขาด ที่ทั้งไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งมุ่งหากำไรอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและระบบนิเวศ

แนวคิดเรื่องป่าชุมชน โฉนดชุมชน การเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกับของชุมชน เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาความเข้าใจของประชาชนและกติกาการดูแลให้ดีด้วย เพราะในยุคปัจจุบัน หลังจากที่รัฐบาลกลางและระบบทุนนิยมแผ่เข้าไปในชนบท ได้เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของชาวบ้านบางคน บางกลุ่มให้เป็นคนอยากรวย อยากมีอำนาจ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะปฏิรูปการบริหารประเทศด้วยวิธีการให้อำนาจองค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลป่าไม้หรือทรัพยากรอื่นๆ ต้องมีการออกกฎหมายให้ชัดเจนไม่ให้ผู้บริหารหรือคณะกรรมการท้องถิ่นมีอำนาจเอาทรัพย์สินส่วนรวมไปขายหรือให้นายทุนเช่าได้ ต้องมีการให้ศึกษาประชาชน และมีระบบการตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ

โดยหลักการแล้ว ป่าชุมชน ที่ดินในนามโฉนดชุมชน ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเลของชุมชน ฯลฯ เป็นแนวทางที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมและลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าวิธีการแบบให้ป่าเป็นของรัฐและที่ดินเป็นของเอกชนล้วนๆ

ชุมชนในญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ดูแลป่ามาได้ดีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในหลายประเทศมีการฟื้นฟูให้คณะกรรมการของชุมชนเป็นผู้ดูแลป่าไม้และทรัพยากรส่วนรวมแทนรัฐบาลกลาง คนในเมืองที่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมก็สนใจเข้าไปช่วยเหลือดูแลด้วย เช่นมีการตั้งกองทุนทรัสตีเพื่อรักษาผืนป่าไว้โดยมีงบช่วยให้เงินอุดหนุนชาวบ้านให้ช่วยดูแลป่าและสามารถดำรงชีพอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร มีกลุ่มคนในเมืองที่จ่ายเงินซื้อหรือให้เงินสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์และการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ

การทำให้ประชาชนได้รู้สึกเป็นเจ้าของผู้ดูแลป่าและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยที่พวกเขารู้สึกได้ประโยชน์ด้วย เป็นวิธีการจัดการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ได้ผลกว่าการให้ภาครัฐเป็นเจ้าของและผู้ดูแล ประเทศไทยในสมัยก่อน ชุมชนเคยเข้มแข็ง ดูแลเรื่องทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งเรื่องวัด โรงเรียน ชุมชนก็เคยช่วยกันสร้างซ่อมแซมดูแล จนเมื่อรัฐเข้าไปจัดการเรื่องโรงเรียน วัด ป่าไม้ ทรัพยากรส่วนรวมต่างๆ ประชาชนเริ่มมองว่าของเหล่านี้เป็น “ของหลวง” เป็นหน้าที่ของ “หลวง (ทางการ)” ต้องดูแล ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของประชาชนที่ประชาชนต้องดูแล ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงแล้วสมบัติส่วนรวมทั้งหลายไม่ใช่ “ของหลวง” แต่เป็นของประชาชนหรือมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชน ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารดูแลสมบัติสาธารณะต่างๆ ให้เป็นของส่วนรวมที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและมีอำนาจมีบทบาทในการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ชุมชนได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ของส่วนรวมกลายเป็นของ “สาธารณะ” ในความหมายด้านลบที่ต่างคนต่าง ใช้แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ไม่มีใครสนใจดูแลให้อยู่ได้ยั่งยืนยาวนาน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 18 พ.ย.56

บทความที่เกี่ยวข้อง

จีนซุ่มกว้านซื้อที่ดินพิษณุโลกบุกลงทุนรับเออีซี

admin 2 เมษายน 2019

นายวิชัย วิทยฐานกรณ์ อนุกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระ […]