สจล.วิจัยพัฒนาโคพื้นเมือง คุมระบบผลิตด้วยธรรมชาติ

เนื้อโคพื้นบ้านปลอดภัยด้วยระบบธรรมชาติ

โคพื้นเมือง…เป็นโคที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มีขนาดเล็กทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น ทนต่อโรคพยาธิและแมลงรบกวนได้ดี สภาพปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ตามธรรมชาติและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง การเลี้ยงโคพื้นเมืองจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่เกษตรกรรายย่อยสามารถนำมาเป็นอาชีพเสริมให้กับครอบครัวได้ แต่ผลผลิตที่ได้กลับไม่ดี จึงต้องมีการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงให้ดีขึ้น

ศูนย์เครือข่ายการวิจัยเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ที่ประกอบด้วยนักวิจัยจาก คณะเทคโนโลยีการเกษตร และวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดตั้งโครงการ “การวิจัยพัฒนาเนื้อโคของไทย” โดยมี รศ.ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล เป็นหัวหน้าชุดโครงการฯ ร่วมมือทางวิชาการ กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมี ดร.โอปอล์ สุวรรณเมฆ ดูแลการตลาด

งานวิจัยชิ้นนี้ได้เริ่มเกิดจากการได้ลงพื้นที่สัมผัสกับเกษตรกรรากหญ้าที่เลี้ยงโคพื้นเมือง ของกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายจากสหกรณ์เกษตรไร้สารเคมี จำกัด จ.อุบลราชธานี ที่เลี้ยงด้วยฟางและหญ้าที่ตนเองผลิตขึ้น โดย ไม่มีการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังควบคุมไม่ให้มีการใช้ฮอร์โมนเร่งเนื้อแดง และยาปฏิชีวนะต่างๆ โดยเมื่อโคป่วยจะใช้สมุนไพร อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร ว่านรางจืด ฯลฯ มาเป็นยารักษา

โคพื้นเมืองที่เลี้ยงไว้ในสหกรณ์แห่งนี้ ยังได้รับการปรับปรุงพันธุ์อย่างจริงจัง ทำให้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพแวดล้อม ให้ลูกดกเลี้ยงง่าย โดยปล่อยให้หากินตามทุ่งหญ้าสาธารณะ และใช้เศษเหลือ จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก

ต่อมานักวิจัยยังได้ค้นพบเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ ที่สามารถสร้างสาร bacteriocins และมีคุณสมบัติเป็น probiotic ได้แก่ P. pentosaceus TISTR 536, Lb. salivarius D4, Lactococcus lactis spp. lactis จึงได้ นำกล้าเชื้อมาใช้ ผลิตแหนมเนื้อโคพื้นเมืองเป็นการแปรรูปเพื่อให้มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างมูลค่าให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค และความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

และด้วยความร่วมมือกับเครือเบทาโกร ทำให้เนื้อโคพื้นเมืองโดยการควบคุมมาตรฐานจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆและเครือข่ายการวิจัยผลิตภัณฑ์จากเนื้อโคนี้จะออกสู่ผู้บริโภค โดยมี พันธมิตร อาทิ Dairy Home มวกเหล็ก, KU Beef อ.ต.ก., Max Beef มก. และ Prime Beef มสธ. ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมกริ๊งกร๊างกันไปที่ ศูนย์เครือข่ายการวิจัยเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร 0-2329-8460 ในเวลาราชการ

ที่มาข้อมูล : นสพ.ไทยรัฐ

บทความที่เกี่ยวข้อง